(เพิ่มเติม) สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค. -3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค.59 หดตัว -3.3% อยู่ที่ 107.51 จาก 111.18 ใน ม.ค.58 แต่เพิ่มขึ้น 2.25% จากธ.ค. 58 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง คือ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ในประเทศหดตัว ขณะที่สินค้าน้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์กระดาษ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.04% เนื่องจากความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น

ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิต ม.ค.59 อยู่ที่ 63.93% จาก 68.06% ในเดือนม.ค.58

"ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนม.ค. หดตัวอีกครั้งหลังจากที่มีค่าเป็นบวกติดต่อกันมา 2 เดือน" นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว

สาเหตุที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมเดือน ม.ค.59 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกยังไม่ดีขึ้น รวมถึงมาจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังลดลง ส่งผลให้ผลผลิตต่อเนื่อง เช่น เม็ดพลาสติกมีราคาลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมบางส่วนจะมีการปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากตลาดต่างประเทศ ตลาดหลักที่กลับมามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในตลาด EU, สหรัฐ และญี่ปุ่น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไฟฟ้ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.34% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด

สำหรับสินค้าผัก ผลไม้ ปริมาณการผลิตและมูลค่าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.3% และ 19.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มการผลิตน้ำผลไม้และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจากคำสั่งซื้อของกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น การผลิตสับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่มีมากขึ้นและจากคำสั่งซื้อสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น 1.04% จากสินค้าน้ำมันพืช, น้ำมันเชื้อเพลิง, ผลิตภัณฑ์กระดาษ โดยในเดือนม.ค.59 การผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชเพิ่มขึ้น 60.25% และ 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นกาเรพิ่มขึ้นทั้งสินค้าน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากปาล์มดิบในปีนี้มีมากกว่าปีก่อน

เช่นเดียวกับการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้น 11.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 3.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงทำให้มีการบริโภคสูงขึ้น

ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอลและเครื่องนุ่มห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.26% ในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ แต่ในส่วนของเส้นด้ายผลิตลดลงตามการผลิตผ้าผืนที่ลดลงถึง 10.06% ในขณะที่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.08% ทั้งในกลุ่มเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอตามความต้องการภายในประเทศ

นายศิริรุจ กล่าวว่า การทบทวนการปรับเป้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งปี 59 นั้น สศอ.จะมีการประเมินอีกครั้งในช่วงกลางปี โดยพิจารณาจากทิศทางเศรษฐกิจโลกและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากนโยบายมีแผนงานที่ชัดเจนยังเชื่อมั่นว่ายังอยู่ในเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงนั้น นายศิริรุจ มองว่า ปัจจัยหลักมาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริโภค เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสไดร์ที่มีกำลังการผลิตน้อยลง เนื่องจากมีการหันไปใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าโรงงานเหล่านี้จะมีการปรับตัวได้

นอกจากนี้ ในส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลได้มีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ