นอกจากนี้ การประชุม กบง.ยังจะพิจารณาการแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลบางกลุ่มที่ขอให้รัฐเปลี่ยนราคารับซื้อเป็นระบบ Feed-in Tariff (FiT) จากเดิมที่ใช้ระบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ซึ่งปัจจุบันแนวทางแก้ปัญหามีความคืบหน้าแต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งคาดว่าจะต้องสรุปให้ได้ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมกบง.ในครั้งนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 11 มี.ค.ต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ เพื่อใช้เป็นกลไกถาวรในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ทั้งไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ เป็นต้น ตลอดจนช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนจะมีการช่วยเหลือไปถึงกลุ่มเกษตรกรหรือไม่นั้น มีการหารือกันแต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมาเนื่องจากอาจจะไกลเกินไปการควบคุมอาจจะค่อนข้างลำบาก การพิจารณาจึงต้องทำให้มีความรอบคอบด้วย
ส่วนการดูแลราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ซึ่งนับเป็นเชื้อเพลิงประเภทหนึ่งนั้น ก็ครอบคลุมอยู่ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่แล้ว โดยจะไม่มีการระบุถึงการจัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯสำหรับ NGV โดยเฉพาะในขณะนี้
สำหรับร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เบื้องต้นการบริหารจัดการจะสอดคล้องกับทำงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน แต่การบริหารจัดการอาจจเปลี่ยนไป โดยอาจจะมีการตั้งสำนักงานขึ้นมาดูแล โดยอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และอาจจะมีคณะกรรมการดูแลชุดใหม่ ซึ่งไม่ใช่กบง.ในรูปแบบปัจจุบัน ขณะที่อาจจะมีการกำหนดเพดานสูงสุดและต่ำสุดของกรอบวงเงินที่จะใช้อุดหนุนด้วย