ทั้งนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิด "1 ตำบล 1 โรงงานแปรรูปเกษตร 1 แหล่งท่องเที่ยว" ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 การส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยเน้นกิจการที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ซึ่งทำได้ง่ายและใช้เงินลงทุนไม่สูง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุทางการเกษตร อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ซึ่งแบ่งวิธีการลงทุนเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีลงทุนโดยบริษัทขนาดใหญ่จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีกับกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิมของบริษัทแม่ วงเงินไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการแปรรูปเกษตรที่ลงทุน 2) กรณีลงทุนโดยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ลงทุนตั้งโรงงานจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี รวมถึงการผ่อนปรนลดขนาดการลงทุนขั้นต่ำจาก 1 ล้านบาท เหลือ 1 แสนบาท และอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศบางส่วนมาใช้ในโครงการได้
แนวทางที่ 2 การส่งเสริมกิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น รวมทั้งผู้ผลิตสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชน มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
แนวทางที่ 3 การส่งเสริมกิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสนับสนุนการสร้างจุดขายใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว โดยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน จะให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-5 ปี
สำหรับกิจการที่สนใจลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2559 และเริ่มการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560