ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เชื่อ GDP ปีนี้โต 3% จากแรงหนุนเบิกจ่ายภาครัฐ แม้โมเมนตัม Q1 ชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.59 สะท้อนสภาวะหยุดนิ่งของกิจกรรมในหลายๆ ด้าน สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2559 อาจกำลังหมุนช้าลง เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมที่มีความเปราะบางมากขึ้นของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก

ทั้งนี้ จากต้นปี 2559 เป็นต้นมา สถานการณ์เศรษฐกิจไทยถูกทดสอบจากหลายตัวแปรความเสี่ยงที่เข้ามาพร้อมๆ กันหลายด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ ความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีผลกระทบต่อการส่งออก (และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท) และกดดันราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้ของเกษตรกรที่แต่เดิมก็ต้องรับมือกับปัญหาภัยแล้งอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจากปัจจัยหนุนชั่วคราว (ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่) ก็เริ่มหมดลง ซึ่งทำให้การใช้จ่ายสินค้าคงทน และกึ่งคงทนกลับมาหดตัวลง เช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านการก่อสร้าง และการนำเข้าสินค้าทุน ที่ทรงตัวรอสัญญาณบวกเพิ่มเติม ก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าขยายการลงทุนต่อไป

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2559 จะชะลอการเติบโตลงมา หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ในช่วงไตรมาส 4/2558 โดยแม้จะมีแรงหนุนชดเชยเข้ามาจากการเร่งใช้จ่ายเม็ดเงินงบประมาณ และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากของภาครัฐ แต่คาดว่า บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชน (โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกร) อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในทันที

ขณะที่สัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มปรากฎขึ้น อาจส่งผลทำให้กิจกรรมในภาคการส่งออก-ภาคการผลิต ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีกรอบการฟื้นตัวที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งก็อาจนับเป็นส่วนที่ฉุดรั้งการปรับตัวขึ้นของรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนนอกภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน

สำหรับการประเมินภาพรวมในปี 2559 นั้น ต้องยอมรับว่าสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่สะท้อนจากเครื่องชี้ในเดือนม.ค. 2559 ทั้งการบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกล้วนเป็นภาพที่น่ากังวล

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่าแรงหนุนเพิ่มเติมจากการจัดทำงบกลางปี และการเดินหน้าเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐฯ น่าจะช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งปี 2559 ให้สามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 3.0 ตามที่ประเมินไว้" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะติดตามหลายเหตุการณ์สำคัญในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งอาจมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีอย่างใกล้ชิด อาทิ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะยังคงปรากฏอยู่แม้ธนาคารกลางของหลายประเทศจะปรับใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมัน/โภคภัณฑ์ในตลาดโลก และการเดินหน้าของตารางเวลาทางการเมืองในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ