ด้านผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด มีดังนี้ - มันสำปะหลัง คาดการณ์ผลผลิต ปี 2558/59 มีจำนวน 31.81 ล้านตัน ขณะนี้อยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาจึงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลมีมาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวรองรับ เพื่อให้เกษตรกรค่อยๆ ทยอยขุดหัวมันจำหน่าย เป็นการรักษาระดับราคาไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป สำหรับการค้าและการส่งออกเริ่มมีการสั่งซื้อมันเส้นจากจีนอย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมา
- กลุ่มสินค้าผลไม้ คาดการณ์ผลผลิต ปี 2559 มีดังนี้ ทุเรียน จะมีผลผลิตเป็นจำนวน 651,568 ตัน มังคุด จะมีผลผลิตเป็นจำนวน 280,757 ตัน และ เงาะ จะมีผลผลิตเป็นจำนวน 326,260 ตัน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน 2559
- กลุ่มสินค้าพืชหัว คาดการณ์ผลผลิต มีดังนี้ หอมแดง จำนวน 99,562 ตัน หอมหัวใหญ่ จำนวน 44,598 ตัน และ กระเทียม จำนวน 73,638 ตัน สถานการณ์กระเทียม ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยจะออกมากช่วงเดือนมีนาคม ภาครัฐจึงมีการดำเนินการอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าและการสำแดงราคาให้ตรงตามข้อเท็จจริง ราคาจึงเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยหอมแดงหัวกลางมัดจุก แห้ง 7 - 15 วัน ราคา 20 บาท/กก. หัวใหญ่มัดจุก ราคา 28.60 บาท/กก. หอมหัวใหญ่ เบอร์ 1 ตัดจุก ราคาอยู่ที่ 14.58 บาท/กก. กระเทียมสดคละ ราคา 35 บาท/กก.
ด้านการบริหารจัดการ - สินค้ามันสำปะหลัง และกลุ่มสินค้าพืชหัว ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ กวดขันเรื่องการลักลอบการนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะจะทำให้ราคาในประเทศตกต่ำ
- สินค้าผลไม้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการ โดยมีการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดปลายทางไปยังจังหวัดต่างๆ ศูนย์จำหน่ายฯ Farm Outlet และห้าง Modern Trade ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะมีความต้องการมาก กระทรวงฯ มีแผนกระจายผลผลิต โดยการจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อเชื่อมโยงตลาด รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ
- ในกลุ่มสินค้าอื่นๆ ให้มีการเชื่อมโยงตลาดเพื่อกระจายสินค้าออกนอกแหล่งผลิต ไม่ให้สินค้าเกิดการกระจุกตัว ซึ่งจะส่งผลทางด้านราคา โดยวางแผนการกระจายผลผลิตและเชื่อมโยงตลาดไปยังจังหวัดต่างๆ ภายในประเทศ สำหรับสินค้าเกษตรที่ราคามีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น เช่น พริก และสุกร ก็ยังคงต้องมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อการแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ
ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัด ติดตามสถานการณ์การผลิต และสถานการณ์การตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เพื่อสามารถรักษาเสถียรภาพของราคา ไม่ให้เกิดความผันผวนมากจนเกิดความเดือดร้อนต่อเกษตรกรภายในประเทศ