(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.พ.59 CPI หดตัว -0.50%, Core CPI ขยายตัว 0.68%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2016 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 105.62 หดตัว -0.50% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.58 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ม.ค.59) ขยายตัว 0.15% มีผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรก หดตัว -0.52%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 106.37 ขยายตัว 0.68% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.58

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 114.38 เพิ่มขึ้น 1.26% เมื่อเทียบกับ ก.พ.58 และขยายตัว 0.38% เมื่อเทียบกับ ม.ค.59 ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 100.95 หดตัว -1.45% จากเดือน ก.พ.58 แต่ขยายตัว 0.02% จากเดือน ม.ค.59

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และรองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ 105.62 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.50% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0% อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากสินค้าใน 3 หมวด คือ 1.หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร 2.หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 3.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงตามราคาตลาดโลก รวมไปถึงค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารรถ บขส. รถร่วมเอกชนระหว่างจังหวัด ซึ่งช่วยชดเชยแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดในช่วงเทศดาลตรุษจีน และการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.59

อย่างไรก็ดี พบว่าในเดือนก.พ.นี้ มีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น 156 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผ้าอนามัย ผงซักฟอก รถยนต์ และบุหรี่ ซึ่งบุหรี่ถือว่าเป็นตัวดึงดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต ขณะที่พบว่าสินค้าอีก 105 รายการมีราคาลดลง เช่น นมสด ไก่สด กาแฟผงสำเร็จรูป ค่าโดยสารนอกท้องถิ่น และก๊าซหุงต้ม

รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนหลังจากนี้คาดว่ายังอยู่ในอัตราที่ติดลบ แต่จะค่อยๆ ติดลบน้อยลงและน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป หลังจากที่ความกังวลปัญหาเงินฝืดค่อยๆ ลดลง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 59 ใหม่มาอยู่ที่ 0-1% จากเดิมที่ 1-2% เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลงมาเหลือ 2.8-3.8% จากเดิม 3-4% รวมทั้งปรับลดราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ลงเหลือ 30-40 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมที่ 48-54 ดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะที่ยังคงระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ตามเดิมที่ 36-38 บาท/ดอลลาร์

รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปีนี้ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการเพาะปลูกสินค้าทางการเกษตร และทำให้พืชผักผลไม้อาจจะมีราคาสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ