ทั้งนี้กลุ่มอดีตผู้บริหารฯ ได้ขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบอดีตพนักงานระดับตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก และกรรมการ THAI ในช่วงประมาณปลายปี 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2557 กระทำการอันถือได้ว่าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันโดยทุจริต ทำให้ THAI ได้รับเสียหาย
โดยเฉพาะกรณีอนุมัติความตกลงแบบไม่มีเงื่อนไขผูกพันจัดตั้งสายการบินราคาประหยัดชื่อบริษัท นกสกู๊ด จำกัด และยังอนุมัติให้สายการบินนกแอร์เข้าทำสัญญา Joint Venture Agreement ซึ่งทำขึ้นระหว่าง NOK SPA คือ บริษัท มั่งคั่ง จำกัด กับ บริษัทลูกของบริษัทสายการบินของสิงคโปร์ ที่มี THAI ถือหุ้น 245,000,000 หุ้น หรือร้อยละ 39.2 เป็นหุ้นที่มีส่วนได้เสียเช่นเดียวกับผู้บริหารนกแอร์ที่ถือหุ้น 25,000,000หุ้น หรือร้อยละ 4 จึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน แต่ผู้บริหารตัวแทน THAI ที่ถือหุ้นนกแอร์กลับอนุมัติและใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนอนุมัติจัดตั้งสายการบินราคาประหยัด ชื่อ นกสกู๊ด แทนที่จะทำการระงับยับยั้งการจัดตั้งสายการบินที่ประกอบกิจการแข่งขันและขัดกับผลประโยชน์ THAI อย่างชัดเจน
ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ นกแอร์ ยังได้อนุมัติให้กู้ยืมเงินจำนวนไม่เกิน 970 ล้านบาท แก่บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด เพื่อลงทุนผ่าน NOK SPV ได้ ซึ่งการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว THAI ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ให้ความยินยอมและสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย
"รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงประมาณปลายปี 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2557 กลับไม่ยับยั้ง การที่สายการบินนกสกู๊ดได้รับอนุญาต มีเส้นทางการบินเส้นทางเดียวกับการบินไทย ก็เท่ากับว่า จะต้องมีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจสายการบินกับการบินไทยอย่างชัดเจน จึงเป็นกรณีที่มีผลประโยชน์ขัดกันกับการบินไทยอย่างชัดแจ้ง" เอกสาร ระบุ
กลุ่มอดีตผู้บริหารฯ เรียกร้องให้ ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบการทุจริตในการเปิดสัมปทานเส้นทางการบินของผู้บริหาร THAI เนื่องจากมีผลกระทบต่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภายหลังเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)