ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ สามารถเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง แต่มีอัตราแผ่วลงในส่วนของงบลงทุนที่เร่งเบิกไปในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 การบริโภคภาคเอกชน กลับเข้าสู่โหมดชะลอลง หลังอานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราวเริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และมาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลจากกำลังการผลิตที่ยังคงมีเพียงพอ และมาตรการปรับขึ้นภาษีรถยนต์
สำหรับภาคส่งออก ในเดือนมกราคม หดตัวถึง 8.9% หนักสุดในรอบกว่า 3 ปี ด้วยมูลค่ากลับมาแตะระดับ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวในแทบทุกตลาด แม้แต่ตลาด CLMV ซึ่งในปี 2558 สามารถเติบโตแข็งแกร่งถึงร้อยละ 7.7 ก็ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 1.2% โดยมีสาเหตุหลักจากมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป,เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมีคอล ที่ลดลงถึงประมาณ 30% (ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของส่งออก ไป CLMV)เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวเล็กน้อยในเดือนก่อน ตามหมวดที่ผลิตเพื่อส่งออก อย่างไรก็ดี การผลิตในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศปรับดีขึ้นซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการส่งออกสินค้านี้ไปตลาดสหรัฐฯ
สำหรับภาคการท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนเดียวที่โดดเด่นต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนม.ค.นี้ อยู่ในระดับ 3 ล้านคน นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีน และเริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวยุโรปชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่ กกร.จะสนับสนุนการขับเคลื่อน Digital Economy และผลักดันให้มีการใช้งาน E-Commerce อย่างจริงจัง ตามแนวโน้มทั้งในภูมิภาค และระดับโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ
นอกจากนี้ กกร.จะรณรงค์ให้ภาคเอกชนร่วมกันประหยัดการใช้น้ำลงด้วย โดยตั้งเป้าจะลดการใช้น้ำลง 20-30% ภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เป็นปัญหารุนแรงมากขึ้น