ทั้งนี้ ไทยและเบลารุสเห็นว่าการค้าและการลงทุนสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ได้ตกลงตั้งเป้าหมายการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี
การค้ารวมระหว่างไทย-เบลารุส ในปี 2558 การค้ารวมระหว่างไทย-เบลารุสมีมูลค่า 84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.2% โดยไทยส่งออกไปเบลารุส คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 79 % ขณะที่ไทยนำเข้าจากเบลารุส มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 33 % สินค้าสำคัญได้แก่ ยางพารา สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ และอาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น
“เบลารุสยังเล็งเห็นโอกาสในการใช้ไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปตลาดอาเซียนและคู่ FTA ของไทยและอาเซียน อุตสาหกรรมที่เบลารุสมีความเชี่ยวชาญและไทยอาจพิจารณาให้มีการร่วมลงทุนในไทย ได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ เครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องมือการทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมไฮเทค รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น"นายอภิรดี กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เบลารุสมีการนำเข้ายางพาราจากไทยสูงถึง 12 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงขอให้เบลารุสซื้อยางพาราไทยเพิ่มขึ้นและเข้ามาลงทุนในรับเบอร์ซิตี้ของไทย เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปตลาดอาเซียนและทั่วโลก รวมทั้งเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย เช่น อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เป็นต้น
นอกจากนี้ เบลารุสยังยินดีให้การสนับสนุนไทยเข้าสู่กระบวนการเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU: Eurasian Economic Union ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งไทยมีความสนใจและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาประโยชน์ ผลกระทบ และความเป็นไปได้ในการเจรจาต่อไป
นางอภิรดี กล่าวเสริมว่า ไทยได้เชิญผู้ประกอบการเบลารุสเข้าร่วมงาน “ThaiFEX 2016" ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติของเอเชียในประเทศไทย จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนพฤษภาคม และเบลารุสได้เชิญผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน “Belagro Minsk 2016" ซึ่งเป็นงานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยีด้านการเกษตรครบวงจรที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน
สำหรับผลการหารือกับภาคเอกชนของเบลารุส นางอภิรดี กล่าวว่า เครือบริษัท Belneftekhim ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเบลารุสและรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แสดงความสนใจร่วมลงทุนกับไทยในการตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมของกลุ่มบริษัทนี้ ได้แก่ ประธานกลุ่มบริษัท Belneftekhim ของเบลารุส (Mr. Igor Lyashenko) หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท Grodno Azot กรรมการผู้จัดการ บริษัท Polotsk-Steklovolokno ทั้งนี้ บริษัท Belneftekhim ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเบลารุส มีธุรกิจหลากหลาย ได้แก่ ผลิตน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์เคมี ปุ๋ยเคมี พลาสติก และยางรถยนต์อุตสาหกรรม (ผลิตภายใต้บริษัท Belshina)
บริษัท Belshina มีการผลิตยางรถยนต์ 350 ชนิด ผลิตโดยใช้มาตรฐานสากล ส่งออกไปยัง 40 ประเทศทั่วโลกและติดต่อกับต่างประเทศ 70 ประเทศ ยอดการขาย 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้นำเข้ายางพาราธรรมชาติจากไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
"บริษัท Belshina มีความต้องการนำเข้ายางพาราจากไทยปีละ 20,000 ตัน ด้วยวิธีการประมูลแข่งขันกัน"
ล่าสุด ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้แทนจากบริษัท Belshina 2 ราย เดินทางเข้าร่วมการเจรจาจับคู่ธุรกิจยางพาราในประเทศไทยที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยบริษัท Belshina มีเป้าหมายจะซื้อยางพาราจากบริษัทไทยคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ