ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ.59 อยู่ที่ -0.50% YoY (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับ -0.53% YoY ในเดือน ม.ค.59 สอดคล้องกับการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน เดือน ก.พ.มาอยู่ที่ 0.68% YoY จาก 0.59% YoY ในเดือน ม.ค. ซึ่งดูเหมือนว่า ทิศทางเงินเฟ้อจะเริ่มทยอยปรับตัวขึ้น เพราะเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าติดลบน้อยลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ -0.50 YoY ในเดือน ก.พ.59 นับเป็นตัวเลขติดลบที่น้อยที่สุดในรอบ 1 ปี น่าจะเป็นผลมาจาก 1.ผลของฐานเปรียบเทียบ ซึ่งในเดือน ก.พ.58 มีการปรับขึ้นค่าโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่รถยนต์ และ 2.สินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภทมีการปรับราคาสูงขึ้นในเดือน ก.พ.59 ตามปัจจัยพิเศษ อาทิ ราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น 5-10 บาทต่อซอง ตามการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบ และราคาอาหารสด โดยเฉพาะผัก/ผลไม้สด และไข่ไก่ ที่ปรับสูงขึ้นตามเทศกาลตรุษจีน และความแปรปรวนของสภาพอากาศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของเงินเฟ้อไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวัฏจักรรอบนี้มาแล้ว โดยจุดต่ำสุดของอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ -1.27% YoY ในเดือน พ.ค.58 และในช่วงหลังจากนี้จะเริ่มทยอยมีอัตราติดลบน้อยลง โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเริ่มกลับมายืนในแดนบวกได้ในช่วงประมาณกลางปีนี้ หรือช่วงต้นๆ ของครึ่งปีหลัง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็จะไล่ระดับสูงขึ้นไปยืนเหนือ 1.0% YoY ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงที่มีค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อที่สูงที่สุดของปี
โดยแนวโน้มเงินเฟ้อที่ทยอยขยับสูงขึ้นดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนเป็นหลัก ซึ่งไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ ธปท.ในปีนี้ เนื่องจากคาดว่า ธปท.จะยังคงให้น้ำหนักกับการดูแลโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีสัญญาณอ่อนแอในภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของภาคเอกชน เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ที่ส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินรอบใหม่เพื่อรับมือกับความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก