พาณิชย์ชี้ช่องลงทุนอุตฯยานยนต์ในกัมพูชา หลังศก.ขยายตัว-กำลังซื้อดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2016 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ว่าบริษัท Ford Motor ประกาศยอดขายรวมในภูมิภาคอาเซียนประจำปี 2558 เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.3 ด้วยยอดขายจำนวน 103,975 คัน โดยกัมพูชาถือเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วยยอดขายที่เพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 41

ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟอร์ด กัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดในอาเซียนสำหรับรถยนต์แบรนด์อเมริกา และจากการสำรวจพบว่า อัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ในกัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมกันมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยอดขายรวมทั้งภูมิภาคอาเซียนลดลงกว่าร้อยละ 3 โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย

นางจีรนันท์ วงษ์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชาวกัมพูชามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากระบบขนส่งในกัมพูชายังไม่ดีพอทำให้คนส่วนใหญ่ต้องมีรถยนต์และรถจักรยายนต์ส่วนตัว โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือคนรวยที่มีฐานะดีมักนิยมซื้อรถยนต์ใหม่มากขึ้นแทนรถยนต์มือสองที่ชาวกัมพูชาเคยนิยมใช้

ดังนั้น จึงทำให้ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ดังจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น เช่น Toyota Mazda Honda แบรนด์จากอเมริกา อย่าง Ford หรือแม้แต่แบรนด์รถหรูอย่าง Audi BMW Porsche และ Rolls Royce ทยอยเข้ามาเปิดโชว์รูมในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

"จากข้อมูลข้างต้นดังกล่าว ทำให้มองเห็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของชาวกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก" นางจีรนันท์ กล่าว

สำหรับรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยเพื่อจำหน่ายในกัมพูชาทั้งหมดเป็นรถยนต์ที่ผลิตตามคำสั่งเฉพาะ เนื่องจากต้องมีพวงมาลัยด้านซ้ายตามกฎหมายของกัมพูชา ในอีกด้านหนึ่งประชากรที่มีกำลังซื้อไม่สูงมักนิยมซื้อรถยนต์มือสอง ทำให้กัมพูชานำเข้ารถยนต์มือสองมากกว่า 30% ของรถยนต์นำเข้าทั้งหมด จึงเป็นโอกาสของการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท REM (Replacement Equipment Manufacturing) ซึ่งเน้นจำหน่ายเป็นอะไหล่ทดแทน

นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ก็เป็นอีกธุรกิจที่มีแนวโน้มจะขยายตัวควบคู่ไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในกัมพูชา ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ