(เพิ่มเติม) สศก.เผยภัยแล้งมีโอกาสลากถึงมิ.ย.59 ประเมินความเสียหายราว 6.2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 3, 2016 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มีโอกาสลากยาวไปถึงกลางปีนี้ หรือราวเดือน มิ.ย. 59 โดยประเมินความเสียหายจากภัยแล้งในปีนี้ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนยังเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคในครัวเรือนแน่นอน แต่ก็คงต้องใช้อย่างประหยัด ส่วนการทำเกษตรคงไม่เพียงพอจะรองรับได้ทุกพื้นที่ ซึ่งเกิดจากปัญหาใหญ่ คือ พื้นที่ป่าหายไป จึงเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาตรการสร้างจิตสำนึกรักป่า และมาตรการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน ด้วยการใช้กลไกจัดการอุปสงค์การใช้น้ำ

"ภัยแล้งน่าจะยาวถึงเดือนมิถุนายน แต่ก็จะพยายามรักษาความสมดุลของน้ำทั้งปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ถึงแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนอยู่ทุกวันแต่ก็จะพยายามแก้ไขทุกวัน บรรเทาไม่ให้สถานการณ์ภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น"นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนยังเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคในครัวเรือนแน่นอน แต่ก็คงต้องใช้อย่างประหยัด ส่วนการทำเกษตรคงไม่เพียงพอจะรองรับได้ทุกพื้นที่ แต่แม้ว่าเราจะยังมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคแต่ก็ต้องรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดในทุกภาคส่วนทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ การบริโภคในครัวเรือนด้วยนอกเหนือจากภาคเกษตร

นายกัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเมินความเสียหายจากภัยแล้งในปีนี้ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท หรือ 2.9 แสนครัวเรือน หรือ เกษตรกรประมาณ 1 ล้านรายที่น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปีนี้

จากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 ต่อเนื่องต้นปี 2559 (เดือนพฤษภาคม 58 – กุมภาพันธ์ 59) พบความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ 2.86 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 271,341 ราย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืช และทำนาได้ตามฤดูกาล ซึ่งระยะยาวอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของชุมชนและเกษตรกร โดยเฉพาะแรงงานภาคการเกษตร

ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานภาคเกษตรเป็นอันดับแรก เนื่องจากกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรเกิดภาวะการว่างงานและขาดรายได้ในช่วงที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตรระหว่างปี 2555 – 2558 ที่ผ่านมา พบว่าแรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องกล่าวคือ ในปี 2555 แรงงานในภาคการเกษตรมีสัดส่วน 39.63% ของผู้มีงานทำรวมทั้งประเทศ แต่ในปี 2558 สัดส่วนกลับลดลงเหลือเพียง 32.28% อีกทั้งยังพบว่า กลุ่มแรงงานภาคการเกษตรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มแรงงานภาคการเกษตรที่มีอายุ 15 -39 ปี กลับมีแนวโน้มลดลง กล่าวได้ว่า แรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรน้อยลง ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานภาคเกษตรสูงขึ้น

ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มื่อวันที่ 6 ต.ค.58 จึงได้มีมติเห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) รวม 8 มาตรการ ดังนี้ 1. การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต 2. การชะลอ/ขยายระยะเวลาชำระหนี้ 3. การจ้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกร 4. การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7. การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8. การสนับสนุนอื่นๆ

หากวิเคราะห์มาตรการดังกล่าว ทั้ง 8 มาตรการ มีงบประมาณที่เบิกจ่ายแล้ว 15,458.31 ล้านบาท โดยขณะนี้มาตรการที่ 2 เบิกจ่ายงบประมาณมากที่สุด ซึ่งเป็นมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อ ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน โดยเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาว ส่วนมาตรการที่ 4 เป็นโครงการใหญ่ของชุมชน อยู่ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณเป็นช่วง ตามรายละเอียดของโครงการที่เสนอ ซึ่งในเบื้องต้นพิจารณาจัดสรรในเรื่องการปลูกพืชใช้น้ำน้อยของชุมชนก่อน และโครงการอื่นในลำดับถัดไป

นอกจากมาตรการดังกล่าว ภาครัฐยังมีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับความเสียหายด้านพืช ไม่เกินรายละ 30 ไร่ โดยมีเงื่อนไขการช่วยเหลือ คือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 ต่อเนื่องต้นปี 2559 มีกรอบวงเงินช่วยเหลือ 3,214.46 ล้านบาท (ความเสียหายระหว่างเดือนพฤษภาคม 58 – กุมภาพันธ์ 59 จำนวน 2.86 ล้านไร่)

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงผลได้จากเงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง พบว่า การเบิกจ่ายงบช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ที่มีการเบิกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2558 แล้ว 1,096.53 ล้านบาท และมาตรการที่ 3 การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตร มีการเบิกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 2,165.84 ล้านบาท หรือร้อยละ 97 ของวงเงินช่วยเหลือ (2,241.94 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องปรับตัวร่วมกันเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ได้แก่ ประการที่หนึ่ง เกษตรกรควรต้องคำนึงสถานการณ์ภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) ว่าสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตจากแหล่งใด มากน้อยเพียงใด ราคาและตลาดการรับซื้อ รวมทั้งพิจารณาการผลิตทางเลือกอื่น เช่น การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมงขนาดเล็ก เป็นต้น ประการที่สอง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การแปรรูป ประการที่สาม ควรนำระบบการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรมาใช้ให้มากขึ้น ซึ่งยังมีข้อจำกัดและยังไม่แพร่หลาย จำต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสนใจมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการผลิตได้ ประการที่สี่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่สนใจทำการเกษตร จึงควรมีนโยบายบริหารจัดการในเรื่องนี้ เช่น การปรับทัศนคติของแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นลูกหลานเกษตรกร ให้มาสนใจในเกษตรกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศ และประการที่ห้า การใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรกลทางเกษตร ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้เกิดการลดการใช้แรงงานคน หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ด้านนายวิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภัยแล้งเกิดจากสาเหตุใหญ่ คือ พื้นที่ป่าหายไป จึงเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาตรการสร้างจิตสำนึกรักป่า ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีธนาคารต้นไม้ ก็ให้จ้างเกษตรกรปลูกต้นไม้ ปลูกป่าเพิ่มซึ่งจะเป็นมิติในเรื่องการสร้างแหล่งต้นน้ำ และมาตรการบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้มีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน ด้วยการใช้กลไกบริหารจัดการอุปสงค์การใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ