(เพิ่มเติม) พาณิชย์ งัดตัวเลขชี้วัดส่งออกใหม่จ่อแถลงรายไตรมาส เริ่มเม.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 4, 2016 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทางการพัฒนาเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าการลงทุนไทย ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการกำหนดแนวทางพัฒนาเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่จะเป็น Scorecard ของไทยเกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างเหมาะสม และครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการส่งออกสินค้า การส่งออกบริการ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Inward FDI) และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Outward FDI)

จากการหารือพบว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เชิญมา มีการทำสถิติหรือข้อมูลและดัชนีทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนอยู่แล้วตามหลักแนวทางสากล ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังกระจัดกระจาย ไม่มีหน่วยงานที่จะบูรณาการรวบรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และชี้ให้เห็นแนวโน้ม (trend) ต่าง ๆ ได้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในลักษณะบูรณาการ (Integrator) เพื่อพัฒนาเครื่องชี้วัดด้านการค้าสินค้า การบริการและการลงทุน (ทั้ง Inward และ Outward) ให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และเป็นปัจจุบันให้มากขึ้น นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานเห็นชอบร่วมกันว่า ควรมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบต่อไป

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในด้านการเก็บข้อมูลแต่ละหน่วยงานนั้น ปัจจุบันมีการรวบรวมไว้อยู่แล้ว อย่าง ธปท. มีการเก็บข้อมูลตัวเลขการค้าบริการ 10 กลุ่ม เช่น กลุ่มขนส่ง กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มการเงิน กลุ่มคมนาคม กลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่มประกันภัย กลุ่มทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มนันทนาการ โดยจะขยายการเก็บข้อมูลเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรับจ้างผลิต และกลุ่มซ่อมบำรุง ซึ่งจะนำข้อมูลเหล่านี้มากำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมใหม่ ส่วนบีโอไอมีการเก็บตัวเลขลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศอยู่แล้ว และข้อมูลการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศมีการเก็บตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์

"ในการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศได้ถูกต้อง จำเป็นจะต้องนำปัจจัยเรื่องการบริการและการลงทุนเข้ามาประกอบด้วย จึงได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่ดูแลการทำตัวชี้วัดหรือสถิติด้านการค้าสินค้า การบริการ และการลงทุน มาหารือกัน"รมช.พาณิชย์ กล่าว

โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเริ่มแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ในลักษณะภาพรวมเป็นประจำทุกไตรมาส โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 นี้เป็นต้นไป

“คาดว่าจะเริ่มแถลงตัวชี้วัดดังกล่าวครั้งแรกในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งใน 3 รายการ คือ การส่งออกบริการ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ จะเป็นการรายงานย้อนหลัง หรือเก็บตัวเลขได้เป็นรายไตรมาส ไม่สามารถจัดเก็บได้ทุกเดือนเหมือนตัวเลขส่งออก" รมช.พาณิชย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมีหลายมิติมากขึ้น ตัวเลขการส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถมองภาพของไทยได้ชัดเจน ถูกต้อง ขณะที่ภาคบริการ และการลงทุน เริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้น ไทยต้องปรับตัว ซึ่งเมื่อสามารถเก็บตัวเลขทั้ง 4 รายการได้แล้ว จะสามารถนำมากำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันการเติบโตของทั้ง 4 รายการได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ในภาคบริการบางสาขาของไทย เช่น การขนส่งและโลจิสติกส์ สุขภาพและความงาม ไทยยังมีศักยภาพส่งออกได้อีกมาก จากปัจจุบัน ที่ยังมีการส่งออกน้อยมาก ก็จะสามารถกำหนดนโยบายในการผลักดันการส่งออกได้ หรือบางอย่างที่ไทยยังขาด เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ภาครัฐก็สามารถกำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้ เป็นต้น

"สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมองผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ที่นับจากมูลค่าผลผลิตของคนไทยกับมูลค่าผลผลิตต่างชาติที่เกิดขึ้นในไทย ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ที่นับเฉพาะมูลค่าผลผลิตของคนไทย ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เห็นความมั่งคั่งของไทยอย่างชัดเจน ดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนการเติบโตของภาคบริการ และภาคลงทุน น่าจะสูงกว่า 50% ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จากปัจจุบันที่ราว 50% ของจีดีพีไทย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ