โดยสินค้าและบริการที่ได้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวถือว่าได้รับการเลือกสรรว่าเป็นสินค้าชั้นเยี่ยมจากประเทศไทย มีมาตรฐานการผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการไทยในตลาดโลก
"ภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลกนั้นเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก และกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียแปซิฟิคพบว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านภาพลักษณ์สินค้าและบริการสายตาผู้บริโภคสูงกว่า" นางมาลี กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ TTM อาจยังไม่ทั่วถึง ผู้สมัครบางส่วนยังไม่เข้าใจถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาและตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility ค่อนข้างน้อย จึงได้ทำการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
"ทุก ๆ ปีจะมีผู้ประกอบการส่งออกไทยให้ความสนใจขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark เป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมฯ ได้มีการเปิดรับสมัครให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ TTM ได้ถึง 3 ครั้ง ทุก ๆ 4 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด" นางมาลี กล่าว
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่งออกไทยได้รับตราสัญลักษณ์ TTM ตั้งแต่ปี 2555-2558 แล้วกว่า 664 บริษัท ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ TTM เหล่านี้จะได้รับสิทธิ์พิเศษที่เอื้อต่อธุรกิจต่าง ๆ มากมาย เช่น ได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรกในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในและต่างประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพและองค์ความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้กำหนดประเภทของผู้ได้รับตราสัญลักษณ์ไว้ 5 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก กลุ่มอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สินค้าเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจบริการ 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพ (สปา) และธุรกิจศึกษานานาชาติ