ทั้งนี้ คาดเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากจะมีโครงการลงทุนในหลายๆด้านของภาครัฐออกมามากขึ้น สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนที่จะตามมา ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นจุดสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคิดเป็น 18% ของ GDP และภาครัฐ 6% ของ GDP
นอกจากนี้ทางสำนักวิจัยยังคงมุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ที่ระดับ 1.50% ต่อปีตลอดทั้งปีนี้ โดยการดำเนินนโยบายการเงินอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการลดดอกเบี้ยมาเป็นการผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้ายและสนับสนุนให้บาทอ่อนค่าเพิ่มเติม
ขณะที่ให้จับตาดูความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีสูง ท่ามกลางความแตกต่างของนโยบายการเงินโลก ซึ่งจะเห็นชัดเจนขึ้นในเดือนมี.ค.นี้ โดยจะมีการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 10 มี.ค. และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 14-15 มี.ค. และการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้อันจะส่งผลให้ในบางช่วงมีเงินไหลเข้ามาตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้บาทแข็งค่าในบางขณะ แต่ในระยะยาว ยังเชื่อว่าบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้อยู่ โดยคาดค่าเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแนะให้จับตาท่าทีการดำเนินนโยบายของจีนที่อาจกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ซึ่งนักลงทุนควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้างในปีนี้
"ปีนี้ยังมีความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง จากความแตกต่างของนโยบายทางการเงินโลก ซึ่งล้วนต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยมองว่าโอกาสที่จะเห็นเงินไหลออกก็ยังคงมีอยู่"นายอมรเทพ กล่าว