(เพิ่มเติม1) ค่ายรถใหญ่พบนายกฯ เสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรม-เพิ่มสิทธิประโยชน์ใน FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 7, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับกลุ่มริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทอีซูซุ, โตโยต้า, นิสสัน และฮอนด้า

นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการหารือว่า กลุ่มบริษัทอีซูซุ ได้ยื่นข้อเสนอแผนการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในกลุ่มรถยนปิ๊กอัพที่ใช้ดีเซล การเพิ่มสิทธิประโยชน์เขตการค้าเสรี (FTA) ให้มากขึ้น และปรับเปลี่ยนระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เมื่อก่อนให้ cc. เป็นตัวกำหนด ซึ่งมองว่าไม่ทันกับเหตุการณ์ของโลก แต่ควรมองในเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องยนต์มากกว่า เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนตามแนวทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลก รวมถึงการพัฒนาระบบการขนส่งทางเรือที่แหลมฉบัง

โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอของกลุ่มบริษัทอีซูซุ พร้อมกับชี้แจงถึงแนวทางการปฎิบัติงานของรัฐบาลในปีนี้ และแผนรองรับอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้บริษัทมีความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอีซูซุ มีแผนที่จะพัฒนารถปิ๊กอัพไฮบริดต่อไป แม้แนวโน้มตลาดรถยนต์ในไทยโดยรวมจะหดจากยอดเดิม 8 แสนคันต่อปี เหลือ 7.2-7.3 แสนคันต่อปี แต่ยังมองว่าไทยเป็นตลาดที่สำคัญ และหวังว่าจะมีส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์โดยรวมทั้งหมด 18% ส่วนตลาดส่งออกกลุ่มบริษัทตั้งเป้า 1.85 - 1.9 แสนคันต่อปี ซึ่งอัตรากำลังผลิตของริษัทสามารถผลิตได้สูงสุด 3.5 แสนคันต่อปี

ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหารและบริษัทแม่ที่บริษัทญี่ปุ่น ที่ยังคงไว้วางใจประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนรถยนต์ ขอให้เชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน และย้ำว่า รัฐบาลมีนโนยายสนับสนุนการค้าที่เสรีและเป็นธรรม และสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติในไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในไทยขึ้นสู่สากล

ในเรื่องรถยนต์แห่งอนาคต เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยอยากเห็นการลงทุนเกิดขึ้นภายในปี 2560 และให้ทำแผนพัฒนาร่วมกันสำหรับ 5 ปี และ 20 ปี โดยรัฐบาลพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ทั้งการส่งเสริมการลงทุนและด้านการเงิน การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาบุคลากรให้รองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยได้มอบกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายรถแห่งอนาคต เช่น รถไฮบริด และรถไฟฟ้า ทั้งนี้ จะสานต่อนโยบายสนับสนุนรถ Eco-car อยู่ เพียงแต่ให้มองไปไกลถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวสนับสนุนการให้รถสมัยใหม่ โดยประเด็นสำคัญ คือ การช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศได้มีข้อผูกพันระหว่างประเทศไว้ ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน/แผนการลงทุนของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการผลิตรถยนต์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ต้องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น bio-diesel หรือ etanol เพราะจะช่วยดึงราคาและหาตลาดให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มากขึ้น จึงพร้อมจะพิจารณาการขยายการสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับรถปิคอัพที่ใช้ bio-diesel ด้วย และจะหาแนวทางสนับสนุนให้ขยายไปใช้น้ำมัน B20 เพิ่มเติมจาก B10 B15 ในปัจจุบัน

นายกฯ ย้ำว่า ไทยยังเดินหน้าเปิดตลาดกับต่างประเทศภายใต้ FTA ที่มีอยู่ และจะเจรจาเพิ่มเติม โดยมีตลาดเป้าหมายใหม่คือ ตลาดตะวันออกกลาง อาฟริกา ประเทศหมู่เกาะ ตลาดมุสลิม และกำลังขยายความสัมพันธ์กับประเทศใหม่ ๆ เช่น รัสเซีย และกลุ่ม Eurasia จึงอยากให้บริษัทรถยนต์รับทราบและกำหนดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไทย

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 58 แม้ว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลง แต่ประเทศไทยสามารถส่งออกรถได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ กว่า 1.2 ล้านคัน มีมูลค่าการส่งออก 17,586 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หากรวมอุปกรณ์และชิ้นส่วนด้วยจะมีมูลค่า 25,608 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.3% โดย Product Champion ของไทยยังคงเป็น รถปิกอัพ ขณะที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือรถ ECO Car มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลจากการที่ค่ายรถยนต์หลายค่ายเลือกใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกรถ Eco Car ในภูมิภาค

สำหรับตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญใน 10 อันดับแรกคือประเทศในกลุ่ม อาเซียน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง นิวซีแลนด์ เม๊กซิโก สำหรับในเดือนม.ค.59 การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบมีมูลค่า 1,933 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่งออกรถยนต์ 93,714 คัน การขยายตัวการส่งออกรถยนต์นั่งในเดือนม.ค.สูงถึง 85% ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งออกรถในปี 2559 นี้ คาดว่าประมาณ คือ 1.25 ล้านคัน

ด้านพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในกำหนดการ "Prime Minister meet CEOs" ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในนามของรัฐบาลไทย เพื่อขอบคุณนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยทอดทิ้งประเทศไทย โดยที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการลงทุนในไทยเป็นไปอย่างราบรื่น และขอให้ยังคงรักษาฐานการผลิตในไทยต่อไป หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ขอให้แจ้งเพื่อจะนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม

พร้อมย้ำนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบ Eco Car รถยนต์ Hybrid ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ รวมถึงรถยนต์ไฮโดรเยนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซ co2 และรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเอธานอลและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนความต้องการใช้พืชพลังงานชนิดอื่นๆ อาทิ ปาล์มและอ้อยในประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นกล่าวถึงการดำเนินการของบริษัทในประเทศไทย รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ Toyota Isuzu Nissan Honda กล่าวถึงแผนการและเป้าหมายในอนาคตที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยสำหรับหลายบริษัทแล้วประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดรองจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีระดับสูง

ในส่วนของ บริษัท TOYOTA มีแผนที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ Hybrid ซึ่งจะเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับการพัฒนายานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงในอนาคตที่จะขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและเซลล์พลังงาน

สำหรับบริษัท ISUZU มีแผนที่จะต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรถกระบะ Hybrid รวมทั้งจะมีการใช้ผลิตผลทางเกษตรส่วนเกินที่มีอยู่ในการผลิตน้ำมัน BIO-DIESEL

ด้านบริษัท NISSAN นับเป็นบริษัทแรกๆ ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicles - EV) และมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อการส่งออก

ในขณะที่บริษัท HONDA ต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานในการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนารถยนต์ และได้ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ปรับแก้กฎหมาย ที่ช่วยให้การนำเข้าส่งออกรถต้นแบบไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาต่ำลงและมีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย

"นายกรัฐมนตรี เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งข้อเสนอแนวทางการพัฒนายานยนต์ของค่ายรถยนต์ทุกค่ายสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และสามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ไทยยินดีที่จะเห็นการลงทุนเพิ่มเติมของกลุ่มยานยนต์ในประเทศไทยทั้งการเปิดโรงงาน การเปิดศูนย์ทดสอบ แต่ขอให้กลุ่มขยายการผลิตโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสูง และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยและ SMEs ไทยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ เป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ โรงงานผลิตแบตเตอรี่" พล.ต.วีรชน กล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเคยได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีอาเบะ เกี่ยวกับการที่ไทยพร้อมที่จะเปิดศูนย์ทดสอบรถยนต์ต้นแบบบางชนิดให้กับญี่ปุ่น อาทิ การรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบที่ญี่ปุ่นได้ ด้ารการส่งออก ประเทศไทยพร้อมเป็น hub ในการกระจายสินค้า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย ตะวันออกกลาง ประเทศในแถบแอฟริกา ตลอดจนประเทศหมู่เกาะ และกำลังพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง TPP ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตที่ใช้ไทยเพื่อเป็นฐานในการส่งออกด้วย

สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีความกังวล อาทิ ปัญหาเรื่องการขนส่งรถจากลานจอดรถในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไปยังท่าเรือ, การเสนอให้ปรับความสูงของรถบรรทุกรถยนต์ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการซื้อรถ Pick-Up ของราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งในประเด็นเหล่านี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาและความกังวลเหล่านี้โดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ศึกษาลู่ทางการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อใช้ประโยชน์จากการทีไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ