ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากอื่นๆ ได้มีการเตรียมการรองรับวิกฤตดังกล่าว เช่น การปรับแผนหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เนื่องจากได้รับทราบแนวโน้มการเกิดปัญหาภัยแล้งล่วงหน้าเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้กำหนดแนวทาง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมระยะสั้นและระยะยาวไว้ ดังนี้
มาตรการระยะสั้น 1. ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs 2. การใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดีสามารถใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ 3. การขอความร่วมมือในการลดการระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในช่วงฤดูแล้ง มาตรการระยะยาว 1) การเพิ่มบ่อกักเก็บน้ำสำรองในโรงงาน 2) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น น้ำทะเล น้ำทิ้งโรงงานสำหรับจังหวัดในภูมิภาค
โดยแต่ละจังหวัดได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/2559 ประจำจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของทุกภาคส่วนแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกรายในการลดการใช้น้ำ และลดการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน รวมทั้งการช่วยเหลือดูแลภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในภาคอุตสาหกรรม
ด้าน การนิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. เฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งของภาคอุตสาหกรรมสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล ภาคใต้ ภาคเหนือ และอื่นๆ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์ ประกอบด้วย การติดตามข่าวสารปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำจากกรมชลประทาน ข้อมูลปริมาณน้ำฝนและการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการเฝ้าระวังเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลพบว่าปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ กนอ. ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการทราบสถานการณ์น้ำเป็นระยะ เพื่อให้เตรียมการตามลำดับดังนี้ 1) ลดปริมาณการใช้น้ำ รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 2) เตรียมการสำรองน้ำ 3) พิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำรองของตนเอง เช่น น้ำบาดาล 4) พิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำรองจากพื้นที่ข้างเคียง หรือนิคมอุตสาหกรรมข้างเคียง ส่วนมาตรการระยะยาว กนอ. ได้วางแผนจัดหาแหล่งน้ำสำรองในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม และพิจารณามาตรการการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนและภาคเกษตรกรรม ช่วงภัยแล้งปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้มีการนำน้ำทิ้งของโรงงานที่ผ่านการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ไปใช้ประโยชน์จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ.2559 เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมาสาระสำคัญ มีดังนี้ 1) โรงงานที่เข้าข่ายต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไม่มีสารโลหะหนักหรือสารเคมีที่เป็นอันตราย
2) ประเภทโรงงานข้างต้นต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ให้ดำเนินการ ยื่นขอยกเลิกเงื่อนไข “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน" เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ต้องการ แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและเห็นชอบ ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาต ต้องรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งที่ให้ทราบทุกเดือน และอุตสาหกรรมจังหวัดจะแจ้งผลแก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ เมื่อสิ้นสุดการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ (30 มิ.ย.59)
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าในส่วนของมาตรการนำน้ำทิ้งจากโรงงานมาบำบัดให้เป็นน้ำดีสำหรับอุปโภคบริโภคและช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้งจะอยู่ที่ประมาณวันละ 5 แสนลบ.ม. ตลอด 4 เดือนตั้งแต่4 มี.ค.59- 30 มิ.ย.59 (120วัน) รวมทั้งสิ้น 60 ล้านลบ.ม.
นอกจากนี้ยังกำหนดรูปแบบการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) โดยสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1) การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย วงเงินปีละ 500 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท ในการขุดสระกักเก็บน้ำ การเจาะน้ำบาดาล และการสร้างระบบส่งน้ำ โดยการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยและโรงงาน รวมทั้งระบบน้ำหยด การจัดซื้อเครื่องยนต์ และวัสดุอุปกรณ์ให้น้ำในไร่อ้อย
2) สนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร วงเงินปีละ 2,500 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 7,500 ล้านบาท ในการซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ส่วนผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยและชาวไร่อ้อย ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 10.94 ล้านไร่ ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าโรงงานในปีการผลิต 58/59 จำนวน 109.85 ล้านตัน แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้อ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอที่ได้รับน้ำไม่เพียงพอ เกิดภาวะชะงักการเจริญเติบโต ใบแห้งและเหลือง และมีหนอนกออ้อยระบาดในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดย สอน. ปรับลดการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตของอ้อยเข้าโรงงานในปีการผลิต 58/59 เหลือจำนวน 101.62 หรือลดลงจำนวน 8.23 ล้านตัน คิดเป็น 7% ขณะนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาการตัดอ้อยเข้าโรงงาน ( พ.ย. 58 – เม.ย. 59) โดย สอน. จะสำรวจประมาณการกักเก็บน้ำของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อเตรียมการช่วยเหลือกรณีเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วย
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่าปัญหาภัยแล้งนอกจากจะทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงจาก 109 ล้านตัน มาอยู่ที่ 101 ล้านตันแล้ว คาดวว่าจะส่งผลต่อค่าความหวานลดลงเล็กน้อยด้วย โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายจะลดลงประมาณ 1 ล้านตันจาก 10 ล้านตันมาอยู่ที่ราว ๆ 9 ล้านตัน
ด้านการนำน้ำจากขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า สืบเนื่องจากการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่จะมีข้อบังคับไว้ว่า เมื่อทำเหมืองเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการฟื้นฟูพื้นที่เหมืองทั้งหมดให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เช่น การปลูกป่า การทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อใช้ในยามหน้าแล้ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศเบื้องต้น พบว่า น้ำขุมเหมืองในอดีตได้มีการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา เช่น จังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงา เป็นต้น และมีพื้นที่เหมืองแร่ ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 238 ประทานบัตรปรากฏเป็นกลุ่มเหมืองแร่ในแผนที่จำนวน 36 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 166,019,100 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้พบว่ามีพื้นที่เหมืองแร่จำนวน 9 แห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค และการเกษตรกรรมโดยรอบ มีปริมาตรน้ำรวม 32,729,600 ลูกบาศก์เมตร
โดยในปัจจุบัน กพร. ได้เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ขุมเหมืองเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ขุมเหมือง และประเมินปริมาณน้ำเบื้องต้น โดยสอบถามข้อมูลเจ้าของพื้นที่และชุมชนโดยรอบในช่วงฤดูแล้งนี้ พบว่ามีขุมเหมืองที่มีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภค และใช้ในพื้นที่เกษตรข้างเคียง จำนวน 20 แห่ง ปริมาณน้ำ 8,851,000 ลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ กพร. อยู่ระหว่างการประสานงานกับ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อพัฒนาและดูแลบำรุงรักษาระบบการน้ำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง โดยเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 14 แห่ง ปริมาณน้ำ 6,174,400 ลูกบาศก์เมตร และภาคเหนือ มี 6 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,556,160 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใช้น้ำได้ในเดือนมีนาคม 2559
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงการนำน้ำจากขุมเหมืองเก่ามาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านลบ.ม./วัน แต่ขณะเดียวกันก็จะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วยว่าน้ำที่นำมาจากขุมเหมืองเก่าจะต้องสะอาดและไม่มีสารพิษตกค้างและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
นอกจากนี้ในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการเพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับชุมชนตามแนวทางของประชารัฐ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้วางแนวทางการช่วยเหลือและพัฒนา เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับอุตสาหกรรมชุมชนไว้ 2 ระยะ ดังนี้
ระยะสั้น : จะดำเนินการในพื้นที่ที่ประกาศให้ความช่วยเหลือภัยแล้งในปี 2559 จำนวน 12 จังหวัด เพื่อช่วยสร้างอาชีพอุตสาหกรรมชุมชน จังหวัดละ 5 หมู่บ้านๆละ 20 คน รวมกลุ่มเป้าหมาย 1,200 คน เพื่อเป็นสร้างรายได้ให้กับประชาชน
นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรการฝึกอาชีพ การแปรรูป รวมทั้งการหาตลาดรองรับให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 12 จังหวัดที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้ง คาดว่าจะทำให้ประชาชนและเกษตรกรมีรายได้เสริมประมาณ 8,000-10,000 บาท/ครัวเรือน
ส่วนระยะยาว : จะดำเนินการโดยใช้แนวทางการปรับโครงสร้างในภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืช นำไปเข้ากระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร และสามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดได้อย่างครบกระบวนการ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะสามารถสร้างกระบวนการคิดย้อนกลับให้กับเกษตรกรในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การวางแผนเพาะปลูกของตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเหมาะสมกับสภาพของฤดูกาล