ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยใช้จ่ายจากเงินทดรองราชการจะต้องมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) และเมื่อ ก.ช.ภ.จ.สำรวจความเสียหายในพื้นที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว จะเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อน และเมื่อได้ช่วยเหลือแล้ว จังหวัดต้องส่งเอกสารต่างๆ ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อขอเบิกเงินงบประมาณชดใช้เงินทดรองราชการ ซึ่งวงเงินเดิม 20 ล้านบาท อาจใช้จ่ายหมุนเวียนไม่เพียงพอ
โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การขยายวงเงินทดรองราชการ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ ขยายให้ทุกจังหวัด ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้จังหวัดมีความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงิน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง และบรรเทาความเดือดร้อนด้านต่างๆ ทั้งด้านการดำรงชีพ การบรรเทาสาธารณภัย การแพทย์และการสาธารณสุข และการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น ค่าจัดซื้อหรือจัดหาน้ำสำหรับบริโภคหรือใช้สอยในที่อยู่อาศัย จัดหาภาชนะรองรับน้ำ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะเพื่อใช้ในการนำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เป็นต้น
"การขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มอีก 30 ล้านบาท มีเป้าหมายให้ทุกจังหวัดให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีเงินเพียงพอกับการใช้จ่ายในช่วงเวลาวิกฤต ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการบูรณาการการป้องกันผลกระทบในวงกว้าง" น.ส.อรนุช กล่าว