รฟม.เตรียมเสนอครม.เห็นชอบรถไฟฟ้าสายสีส้มปลายมี.ค.หลังลดกรอบวงเงินลงอีก 1.6 พันลบ. คาดเปิดประมูลใน 2-3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 10, 2016 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดฯ มีมติเห็นชอบการปรับลดกรอบเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร (กม.) ลงอีก 1,620 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ปรับลดไปแล้ว 1,028 ล้านบาท หรือเท่ากับปรับลดรวม 2,648 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินลดลงจาก 95,108 ล้านบาท เหลือ 92,460 ล้านบาท
"ราคาที่ปรับตามความเป็นจริงตามภาวะค่าน้ำมันในปัจจุบัน และจะเสนอครม.หากเห็นชอบประมาณปลายเดือนมี.ค.นี้ และคาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำราคากลางและเปิดประมูลได้ภายใน 2-3 เดือน" พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว

สำหรับการปรับลดดังกล่าวไม่กระทบความปลอดภัย แต่อาจไม่คงทนหรือไม่สวยงาม โดยเป็นการปรับประเภทวัสดุบางส่วนเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ฝ้าเพดานเดิมเป็นฝ้าปิดปรับเป็นฝ้าเปลือย ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายลง 200 กว่าล้านบาท ส่วนผนังสถานีใต้ดินเดิมเป็นกระเบื้องแกรนิตปรับลดเกรดลง หรือฝ้าเพดานสถานีใต้ดินจากความหนา 3 มม. ลดเหลือ 2 มม. รวมถึงชะลอการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงไปอยู่ในเนื้องานส่วนสายสีส้มด้านตะวันตก ซึ่งลดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 650 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 54,644 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ขอความชัดเจนใน 4 ประเด็น คือ รูปแบบระบบรถ, ปรับกรอบวงเงินให้เป็นปัจจุบันและเหมาะสมมากขึ้น, ปรับลดค่าใช้จ่ายเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sums) และแนววิธีการคัดเลือกเอกชนที่ชัดเจน ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ประกวดราคาในรูปแบบโมโนเรล โดยเป็นสัญญาเดียว เอกชนรายเดียว ก่อสร้างงานโยธา ระบบราง ขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งรูปแบบโมโนเรลมีข้อดีคือสามารถก่อสร้างได้เร็ว ใช้พื้นที่น้อย เพิ่มตู้โดยสาร เพื่อเพิ่มความจุผู้โดยสารได้และสามารถไต่ระดับทางลาดได้ดี โดยตามแผนงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดไว้จะเปิดประมูลในเดือนมิ.ย.2559

ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า คณะกรรมการ PPP ต้องการความชัดเจนเรื่องการสนับสนุนเอกชน ซึ่งผลศึกษาคือ จะสนับสนุนหลังเปิดเดินรถเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยวงเงินรวมต้องไม่เกินวงเงินค่างานโยธา โดยจะเสนอบรรจุรายละเอียดนี้ไว้ในทีโออาร์ประกวดราคา และพิจารณารายที่เสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ที่รัฐอาจไม่ต้องอุดหนุนเลย ซึ่งข้อดีในการอุดหนุนรูปแบบนี้คือ เป็นการผ่อนจ่ายเงินอุดหนุน รัฐไม่ต้องจ่ายเงินเป็นก้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ