การดำเนินนโยบายเช่นนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการเติบโตต่ำลง โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องกันมานานหลายปี มองไม่เห็นทางออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ประชาชนมีหนี้สินในระดับสูง ขณะที่รายได้ยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างเท่าทัน ถ้าหากเศรษฐกิจไทยยังคงเดินต่อไปในลักษณะนี้และไม่มุ่งแก้ไขที่ต้นเหตุ คนไทยจะไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน และเราอาจจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ได้ในอนาคต
"สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ความน่าเชื่อถือ คือ หัวใจ ดังที่อาจารย์ป๋วยได้เคยกล่าวไว้ว่าหลักการธนาคารกลางก็เช่นเดียวกับหลักการธนาคารทั่วๆ ไป คือ เครดิต และ Faith คือความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน ทั้งภายในภายนอก ถ้าขาดเครดิตแล้ว เลิกพูดเรื่องการธนาคารได้" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
สำหรับการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ การสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากภายนอกประเทศ ซึ่งอาจารย์ป๋วยมองว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ต้องเรียนรู้แนวคิด ประสบการณ์ การค้า การลงทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะโลกจะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น หากมองไปข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจไทย ความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งเพื่อช่วยเหลือสอดส่องดูแลเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างความเชื่อมโยงของระบบการเงิน ตลอดจนช่วยกันป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ให้ลุกลาม รวมทั้งช่วยพัฒนาศักยภาพของธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคฯ ด้วย
ด้านการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ การสร้างความสมดุลและให้ความสำคัญต่อการรกัษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในสภาวะปัจจุบันที่ความผันผวนจากภายนอกประเทศเกิดถี่ขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น การสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันสำคัญมากขึ้น
"ช่วงเวลา 12 ปีที่อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านได้บริหารเศรษฐกิจมหภาคด้วยความระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และเสถียรภาพการเงินก็อยู่ในระดับดี กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกินร้อยละ 3 และเงินสำรองระหว่างประเทศมีความเข้มแข็ง" ผู้ว่าฯธปท.กล่าว
การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค คือ ต้องพัฒนาเศรษฐกิจในลักษณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รัปประโยชน์ร่วมกัน หรือ Inclusive Growth ซึ่งอาจารย์ป๋วยมองเห็นปัญหาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่สูงๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศว่าเกิดการกระจุกตัวอยู่กับเขตเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร แต่ชนบทที่ห่างไกลกลับได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ จนอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งความเปราะบางในสังคมได้ การบริหารเศรษฐกิจมหภาคจึงไม่ได้มองแค่มิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมด้วย
การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญต่อการมองไกลไปในอนาคต ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่น ท่านอยากเห็นเศรษฐกิจไทยพัฒนาขึ้น และคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับประเทศหลายองค์กร เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ ธปท.
"ท่านไม่ได้เพียงแต่วางรากฐานให้แต่ละหน่วยงานเข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจทำงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศประสานสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีพลัง" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
นายวิรไท กล่าวในตอนท้ายว่า แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยและธุรกิจการเงินในวันนี้ได้มีพัฒนาการมาไกลมาก มีความเข้มแข็งและมาตรฐานการกำกับดูแลที่สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล เรื่องคุณธรรมในการทำธุรกิจการเงินยังเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และยังสามารถพัฒนาได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน การยึดถือสปิริตของหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาลที่สูงกว่าเพียงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายตลอดไป จนถึงการคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และการกำกับดูแลของคณะกรรมการธนาคารที่พึงส่งเสริมให้การปฏิบัติตามหลักคุณธรรมเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญ