"การลงนามความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และ การยางแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมในการรองรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมฯยางพารา โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และ มาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาก่อสร้างโรงงานได้ในเดือนกันยายนปี 2559 และจะเริ่มประกอบกิจการภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2560" นายวีรพงศ์ กล่าว
ฉบับที่ 1 เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมยางพารากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เพื่อส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการใช้ยางพาราสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศักยภาพของบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่จะมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบของคลัสเตอร์ในนิคมฯยางพารา รวมทั้งเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ โครงการนำร่องสวนยางในอนาคต, โครงการอาร์แอนด์ดี (R&D), ศูนย์ข้อมูล, ศูนย์แสดงสินค้าโลจิสติกส์, ตลาดกลาง, คลังสินค้า รวมทั้งการมีสถาบันฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร สถาบันการศึกษาเกี่ยวกับยางพาราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางที่คาดว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้น
ส่วนฉบับที่ 2 เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนด้านสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่สนใจลงทุนในนิคมฯยางพาราและนิคมฯในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ กนอ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา
นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM Bank เปิดเผยว่า ธนาคารฯ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) และสินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อสร้างและขยายฐานการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีระยะเวลากู้สูงสุด 15 ปี และไม่มีค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ (Front-end Fee) แบ่งเป็น วงเงินกู้ระยะยาว และวงเงินหมุนเวียน
โดยวงเงินกู้ระยะยาวมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนใหม่หรือขยายกิจการ ไม่จำกัดเพดานการกู้ อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 Prime Rate -2.50% ต่อปี, ปีที่ 2-8 Prime Rate -1.50% ต้อปี, ปีที่ 9-15 Prime Rate -1.00%ต่อปี (ปัจจุบัน Prime Rate -6.50%) ยกเว้น Front-end Fee ผ่อนชำระ (Grace Period 2 ปี)
ส่วนวงเงินทุนหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับยอดขาย ไม่จำกัดวงเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับอนุมัติ อัตราดอกเบี้ยสกุลบาท Prime Rate -1.50% ต่อปี สกุลดอลลาร์ Libor +3.50% ต่อปี (ปัจจุบัน Libor 5 เดือน อยู่ที่ประมาณ 0.88% ต่อปี) ไม่มีค่าธรรมเนียม ระยะเวลาผ่อนชำระ ไม่เกินระยะเวลาเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับอนุมัติ
โดยธนาคารฯ เปิดรับสมัครผู้ขอสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.60 ซึ่งตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทไว้ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท
ขณะที่ฉบับที่ 3 เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการยางแปรรูปครบวงจรกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในนิคมฯ ยางพาราจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างการมีส่วนร่วมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมยางแปรรูปครบวงจรทุกภาคส่วนได้บูรณาการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางแปรรูปร่วมกัน โดยอาศัยฐานความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากนักลงทุน และผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ อีกทั้งจะส่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในการประกอบกิจการนี้ เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันเชิงธุรกิจ สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิตของผู้ประกอบการยางของไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับกิจกรรมด้านการตลาดและการเตรียมความพร้อมของนักลงทุนที่จะเข้ามาเบื้องต้น กนอ.วางแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเดินสายโรดโชว์ไปยังต่างประเทศทั้งจีนและญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุด กนอ.เตรียมเดินสายโรดโชว์ไปที่เมืองซิงเต่า มลฑลซานตง ประเทศจีน เพื่อทำการบันทึกลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนหนุนผู้ประกอบการยางจีนลงทุนในนิคมฯยางพารา ระหว่าง กนอ.และสมาคมอุตสาหกรรมยางพาราของจีน คาดมีกำหนดจัดขึ้นประมาณต้นเดือนเมษายน 2559
นอกจากนั้น กนอ.ยังได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการโชว์การดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนิคมฯยางพารา ภายในกิจกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติด้านยางน้ำยางและยางล้อ ประจำปี 2559 ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นโดยบริษัท เทคโนบิซ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อแสดงความพร้อมการพัฒนารองรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการยางที่เข้าร่วมให้ความสนใจสอบถามการลงทุนในนิคมฯยางพาราที่สงขลาจำนวนหลายราย