ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดบาทจ่อแข็งแตะ 35 จากทุนไหลเข้าหลัง ECB ลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 11, 2016 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 10 มี.ค.59 มีส่วนที่สร้างความประหลาดใจต่อตลาดการเงินโลก 2 เรื่อง คือ 1) ECB เลือกใช้หลายเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาด และ 2) ประธาน ECB ส่งสัญญาณว่าไม่น่าจะมีความจำเป็นที่ ECB จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ 2 ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกในด้านที่กลับกัน แต่ดูเหมือนว่าตลาดการเงินจะให้น้ำหนักมากกว่ากับถ้อยแถลงของประธาน ECB ที่บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยของยูโรโซนอาจจะแตะระดับต่ำสุดของวัฏจักรรอบนี้แล้ว เพราะในท้ายที่สุดค่าเงินยูโรทะยานแข็งค่าขึ้น พร้อมกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซน ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงเทขายกลับลงมา

ทั้งนี้ หากประเมินถึงระดับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดในหลายๆ ส่วน ต้องยอมรับว่าการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในรอบนี้เป็นการทบทวนเครื่องไม้เครื่องมือเชิงนโยบายครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของธนาคารกลางแกนหลักของโลกในปีนี้ ตามหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 อัตรา โดยมีอัตราต่ำสุดเป็นค่าติดลบที่ร้อยละ -0.10 เมื่อวันที่ 29 ม.ค.59 และธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงมาที่ร้อยละ 17.0 และร้อยละ 16.0 ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กตามลำดับ เมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 ที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ตลาดจะค่อนข้างผิดหวังกับถ้อยแถลงของประธาน ECB ที่ระบุว่าไม่เห็นความจำเป็นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก แต่คาดว่าผลลัพธ์ที่จะมีต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงหลังจากนี้ อาจจะไม่แตกต่างไปจากสถานการณ์ที่เริ่มเห็นมาแล้วตั้งแต่ในช่วงท้ายๆ เดือนม.ค.59 เป็นต้นมามากนัก ก็คือสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางชั้นนำหลายๆ แห่ง และความไม่แน่นอนในจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจทำให้มีเม็ดเงินต่างชาติบางส่วนทยอยไหลกลับเข้ามายังตลาดการเงินในภูมิภาคอีกระลอก (หลังจากที่ไหลออกไปในปีที่แล้ว) ซึ่งต้องยอมรับว่าพันธบัตรและหุ้นไทยก็น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือก เพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

อนึ่ง นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย เป็นเงินรวมกันแล้วกว่า 5.0 หมื่นล้านบาทนับจากต้นปี 2559 ขณะที่เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนใกล้ๆ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำของโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัญญาณของนโยบายการเงินจะยังคงโน้มเอียงไปในเชิงผ่อนคลาย ซึ่งเป็นภาพที่สอดคล้องกันมากขึ้น โดยขั้วของธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางอื่นๆ ในยุโรป จะเดินหน้าเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งอาจจะมีผลในทางอ้อมต่อเฟดในการเลือกจังหวะ และ/หรือส่งสัญญาณเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ตลาดตีความว่า เฟดตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางอยู่มาก

ทั้งนี้ หากภาพดังกล่าวนำไปสู่กระแสเงินทุนไหลเข้าทางฝั่งเอเชียอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญก็คือ การบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าทดสอบแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ในระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ