อย่างไรก็ตาม มาตรการผ่อนคลายทางการเงินส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นของโลก โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าจากระดับ 1.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ไปอยู่ที่ราว 1.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ในช่วงสิ้นปี 59
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ECB อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในเดือนนี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค. เช่นเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 15 มี.ค. จากที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นราว 5.9% นับตั้งแต่ต้นปีมาอยู่ที่ระดับ 113.2 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงอ่อนแอ
SCB EIC ยังแนะจับตาดูการแข็งค่าของเงินบาทช่วงสั้น หากค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาจเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าเพียง 2.3% ขณะที่ค่าเงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่า 4.2% และค่าเงินรูเปียอินโดนีเซียแข็งค่า 5.1% ดังนั้น SCB EIC จึงมองว่ามีโอกาสไม่มากนักที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 23 มี.ค.เพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่า
นอกจากนี้ SCB EIC ยังคงมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ของปีนี้ ทำให้ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยยังคงประมาณการว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 59 แข็งค่าขึ้นราว 0.1% เช่นเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หลังจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง