ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีอุปนิสัยที่คล้ายคลึงกันกับคนไทย ดังนั้นศรีลังกาสามารถเป็นฐานเชื่อมโยงสู่อินเดีย บังคลาเทศ และปากีสถาน ซึ่งเมื่อมีข้อตกลง FTA กับไทย สิ่งสำคัญ คือ ต้องผลักดันให้นักธุรกิจไทยรู้จักศรีลังกามากขึ้นและกล้าที่จะทำการค้า พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐจะเร่งเจรจาผ่อนผันกฎระเบียบ และอำนวยความสะดวกที่นักธุรกิจไทยต้องการ
รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่านอกจากด้านการค้าแล้ว นักธุรกิจไทยควรมาลงทุนในศรีลังกามากขึ้นด้วย จึงได้นำนักธุรกิจรายใหญ่เดินทางร่วมคณะครั้งนี้จำนวน 14 บริษัท/สมาคม อาทิ EXIM Bank, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, เครือสหพัฒน์, ไทยเบฟเวอเรจ, ช.การช่าง, อิตาเลียน-ไทย, เครือเจริญโภคภัณฑ์ฐ มิตรผล, เครือเซ็นทารา, โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น และได้พบกับนักธุรกิจรายใหญ่ของศรีลังกาจำนวน 14 ราย ขณะที่ศรีลังกาต้องการความช่วยเหลือจากไทยหลายด้าน อาทิ การเกษตร การท่องเที่ยว ธนาคาร การก่อสร้าง สาธารณูปโภค เป็นต้น
"กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรายงานผลการเจรจาการค้า (Business Matching Thai - Sri Lanka) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ซื้อผู้นำเข้าศรีลังกาว่า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 480 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นยอดสั่งซื้อทันที 972,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 36 ล้านบาท และยอดที่คาดว่าจะสั่งซื้อภายใน 1 ปีอีกประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 444 ล้านบาท" รมว.พาณิชย์กล่าว
สินค้าที่ได้รับความสนใจและมีแนวโน้มและเป็นที่ต้องการในตลาดศรีลังกา ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ โซ่มอเตอร์ไซค์ ถังบรรจุแก๊ซ /วัสดุของเหลวติดตั้งบนรถบรรทุกและถังแก๊ซที่ใช้ในครัวเรือน สินค้าอาหาร ประเภทอาหารแช่เย็นแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทาน ซูริมิ และขนมขบเคี้ยวได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าศรีลังกาเป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่า ศรีลังกาเองมีพื้นที่เป็นเกาะแต่ยังคงต้องมีการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากที่อื่น เนื่องจากปัญหาด้านกรรมวิธีการเก็บรักษา
ส่วนสินค้าเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมและสนใจมากในกลุ่มสุภาพสตรีชาวศรีลังกา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ทำจากสมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์ปรับผิวขาว (Whitening) นอกจากนี้สินค้าของใช้ในโรงแรมได้รับการตอบรับดีเช่นกัน เนื่องจากประเทศศรีลังกามีการขยายตัวของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมมาก ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าประเภทที่ใช้กับโรงแรมรีสอร์ทมากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในส่วนของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้ประกอบการศรีลังกาเห็นว่า สินค้าเครื่องประดับไทยมีดีไซน์ที่ทันสมัยสวยงาม และผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เห็นว่า ศรีลังกาเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีความต้องการสินค้าเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะขยายตลาดเข้ามายังศรีลังกาได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งศรีลังกายังเป็นแหล่งวัตถุดิบพลอยสีที่สำคัญของไทย โดยส่วนใหญ่ประสงค์จะกลับมาศรีลังกาอีกครั้ง เพื่อติดตามการค้าระหว่างกันเพิ่มเติมต่อไป ในขณะเดียวกันเอกชนรายใหญ่เห็นว่าสามารถขยายการผลิตไปยังศรีลังกาและใช้ประโยชน์ในการส่งต่อไปยังตลาดอื่นในเอเชียใต้ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีสินค้าเวชภัณฑ์ยารักษาโรคที่มีโอกาสทางการตลาดในศรีลังกา เนื่องจากศรีลังกามีความต้องการยาแผนปัจจุบันในปริมาณสูง และให้ความสำคัญกับสินค้าเวชภัณฑ์ของไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ โดยการเจรจาการค้าครั้งนี้ผู้ประกอบการสินค้าเวชภัณฑ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักธุรกิจศรีลังกาเข้ามาติดต่อนัดหมายเจรจาการค้าสูงสุด อย่างไรก็ตามในการนำเข้าสินค้าเวชภัณฑ์ยังมีกฎระเบียบข้อบังคับในการนำเข้าที่ยุ่งยาก และใช้เวลาในการขึ้นทะเบียนยาเป็นระยะเวลานานก่อนที่จะสามารถนำเข้าได้