ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับปรุงงบการเงินรอบบัญชีปี 2558 ที่จะยื่นในวันที่ 29 พ.ค.59 ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของธุรกิจ (บัญชีชุดเดียว) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 เป็นต้นไป สำหรับการจดแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 15 มี.ค.59 พบว่าขณะนี้มีจำนวนผู้เข้ามาจดแจ้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว 470,000 ราย ซึ่งหากผู้ประกอบการทุกรายให้ความร่วมมือจัดทำบัญชีและงบการเงินถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธุรกิจ (บัญชีชุดเดียว) จะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่า ภายหลังการครบกำหนดการยื่นจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวในวันที่ 15 มี.ค. นี้ จะมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 4.3 แสนราย หลังจากตัดรายชื่อผู้ที่ยื่นซ้ำออกเรียบร้อยแล้ว จากปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการที่ 4.7 แสนราย ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.5 แสนราย เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย
ทั้งนี้ มาตรการผู้ประกอบการบัญชีชุดเดียวจะทำให้กรมฯ เสียรายได้ทางตรงจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จดทะเบียนถูกต้องในระบบ 3 หมื่นรายในปี 2559 ที่ 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็จะได้ภาษีทางอ้อมกลับคืนมาในระยะยาว โดยภายในวันที่ 28 มี.ค. นี้ กรมฯ ก็จะเดินสายให้ความรู้ในการทำบัญชีรายจ่ายให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ทันในปีบัญชี 2558 กรมได้เสนอคลังขยายเวลายื่นเสียภาษีย้อนหลังได้ถึง 30 มิ.ย.59 โดยไม่เสียค่าปรับ เงินเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ กรมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเรียกดูข้อมูลของบุคคลที่ 3 ซึ่งจะเป็นการสุ่มตรวจรายได้ และธุรกรรมทางการเงิน ทั้งในส่วนของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย โดยในส่วนนี้จะรวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วย และจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกรม และช่วยปิดช่องโหว่เกี่ยวกับการสูญเสียภาษีทางอ้อม โดยยืนยันว่าการดำเนินการในส่วนนี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องแน่นอน
"การแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ จะเข้ามาช่วยทดแทนภาษีทางตรงที่กรมต้องสูญเสียไป อาทิ การลดภาษีให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ทำให้กรมเสียรายได้ 2 หมื่นล้านบาท และในอนาคตมองว่าหัวใจหลักของภาษีที่จัดเก็บคือภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง ซึ่งตรงนี้เรามองว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ทางอ้อม โดยเฉพาะจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างน้อย 30% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศอยู่ที่ราว 3.5 แสนล้านบาท" นายประสงค์ กล่าว