ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนก.พ.ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 กังวลภาวะการครองชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 14, 2016 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ก.พ. 59 ลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มาที่ 44.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จาก 45.0 ในเดือนม.ค. 59

ครัวเรือนส่วนใหญ่ในผลสำรวจฯ รอบนี้ มีมุมมองในด้านลบมากขึ้นต่อภาวะตึงตัวระหว่างสภาพคล่องในกระเป๋ากับภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ (สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังคงติดลบต่อเนื่องตลอดช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา) แต่ครัวเรือนหลายส่วนเริ่มกลับมามีความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าอีกครั้ง หลังจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและน้ำมันขายปลีกบางชนิด อาทิ ดีเซล เริ่มขยับขึ้น โดยดัชนีมุมมองครัวเรือนต่อสถานการณ์ราคาสินค้า ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนมาที่ 43.2 ในเดือนก.พ. 2559 ซึ่งสะท้อนว่า ราคาสินค้ากลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อบรรยากาศการใช้จ่ายของครัวเรือน

นอกจากนี้ ดัชนีมุมมองคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month expected KR-ECI) ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 45.7 จาก 46.6 ในเดือนก่อน ซึ่งสะท้อนว่า ครัวเรือนในหลายส่วนมีการปรับลดความคาดหวังลงมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม รอเพิ่มแรงกดดันอยู่ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี คือ 1) ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่อาจทำให้การส่งออกหดตัวลง และ 2) ปัญหาภัยแล้ง (ที่เริ่มก่อตัวขึ้นหลังระดับน้ำในเขื่อนหลักลดลงมาอยู่ในเกณฑ์วิกฤต) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตร และประชาชนระดับฐานราก นอกจากนี้ หลายครัวเรือนมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันด้านรายได้ที่ยังไม่สม่ำเสมอ และ/หรือตารางค่าใช้จ่ายในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ที่อาจต้องครอบคลุมรายการส่วนเพิ่มที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่หลายโรงเรียนทยอยเปิดภาคการศึกษาใหม่

ประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตาม ยังคงเป็นเรื่องกระแสรายได้ของครัวเรือนที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมาก เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังอาจถูกฉุดรั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และภาวะภัยแล้ง ซึ่งน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า โดยครัวเรือนที่มีรายได้ไม่ประจำ/รับจ้าง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย อาจเผชิญกับปัญหาความตึงตัวระหว่างรายได้กับภาระค่าใช้จ่าย มากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นๆ

ทั้งนี้ การพลิกฟื้นกำลังซื้อของครัวเรือนที่ยังมีข้อจำกัดจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ ภาระหนี้สินที่สูง ก็ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะคาดว่า การบริโภคของครัวเรือนในปี 2559 อาจขยายตัว 2.1% ใกล้เคียงในปี 58 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สัมฤทธิ์ผล ควบคู่กับเยียวยาแรงกดดันในครัวเรือนระดับฐานราก ก็อาจช่วยกระตุ้นความคาดหวังและลดทอนแรงฉุดความเชื่อมั่นของครัวเรือนไม่ให้ไถลลงไปจากจุดนี้มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ