ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 35.12/14 แกว่งแคบ รอความชัดเจนผลการประชุม FOMC ต่อ หลัง BOJ คงดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2016 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 35.12/14 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงกับช่วงเช้าที่เปิด
ตลาดที่ระดับ 35.12/13 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ หลังจากผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ออกมาตามตลาดคาดว่าจะ ยังคงอัตราดอกเบี้ย และดำเนินนโยบาย QE ไว้ในระดับเดิม ซึ่งทำให้เห็นว่า BOJ เองก็น่าจะยังรอดูท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน

"บาทวันนี้ค่อนข้างเงียบๆ คงรอดูผลประชุม FOMC ต่อ หลังจากที่วันนี้ BOJ ก็ออกมาตามคาด คือ คงดอกเบี้ยและ QE ไว้ในระดับเดิม" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.05-35.20 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.09/12 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 113.50/90 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร ช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1077/1079 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ 1.1100/1130 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,382.93 ลดลง 11.34 จุด (-0.81%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 44,431 ล้านบาท
  • ปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,602.61 ลบ.(SET+MAI)
  • ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือน มี.ค.59 ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน 6.74
จุด มาสู่ระดับ 66.33 จุด ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างจะเชื่อว่าตลาดทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อเก็งกำไร หลังราคาทองคำ
ฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าทองคำและกลุ่มผู้ลงทุนทองคำ ส่วนปัจจัยลบสำคัญยังอยู่ที่การ
แข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางดอกเบี้ยของ FED
  • ผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่า จะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,280-1,360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,150-1,210 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความ
บริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 21,000-22,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่
19,000-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
  • นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และกลุ่มซีไอเอ็มบี จะให้บริการทำธุรกรรมเงินริงกิต-บาทอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการค้าไทยมาเลเซีย หลังได้
รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ในตัวแทนผู้ให้บริการเงินริงกิต-บาท หรือ Appointed Cross Currency Dealers (ACCDs) จากธนาคาร
แห่งประเทศไทย และธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นและความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างธนาคารทั้ง 2
ประเทศ โดยผ่อนคลายกฎระเบียบให้ธุรกิจการค้าใช้เงินสกุลท้องถิ่น ช่วยกำหนดราคาง่ายขึ้น ประหยัดต้นทุนทางการค้า ไม่ต้องบวก
เผื่อค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ต้องพึ่งพาระบบการชำระเงินธนาคารของประเทศอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ค้า
  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ ก.ล.ต. และภาคธุรกิจกองทุนรวม ลงนามความร่วมมือ
ใน “โครงการพัฒนาช่องทาง การเข้าถึงกองทุนรวม" เพื่อร่วมกำหนดมาตรฐานการทำงาน สร้างความสะดวกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์
กองทุนรวม สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมกองทุนรวมและตลาดทุนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่พัฒนาระบบงานกลาง
และคาดว่าระบบจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในต้นปีหน้า
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายผ่อนคลายการเงิน ในการประชุมวันนี้ หลังจากที่ได้ตัดสินใจใช้นโยบาย
อัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมครั้งก่อน โดยที่ประชุม BOJ มีมติคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ระดับ -0.1% สำหรับสถาบันการ
เงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ นอกจากนี้ยังได้คงนโยบายการเพิ่มฐานเงินรายปีที่ระดับ 80 ล้านล้าน
เยน ผ่านโครงการซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่
  • กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนม.ค. ปรับตัว
ขึ้น 3.7% จากเดือนที่แล้ว โดยดัชนีผลผลิตของโรงงานและเหมืองแร่อยู่ที่ 99.8 ส่วนการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น
3.5% ขณะที่สต็อกสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมขยับลง 0.2%
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบทจีน เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะยังคงมี
การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง อันมีสาเหตุมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอุปสงค์การซื้อบ้านขนาดใหญ่ พร้อมระบุถึง
ปัจจัยหนุนหลายประการ ซึ่งรวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง การพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็ว และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ที่
อาศัยอยู่ในเขตเมือง
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) และธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศต่ออายุข้อตกลงสว็อปค่าเงินระดับทวิภาคี
(BCSA) ออกไปอีก 3 ปี

ทั้งนี้ ข้อตกลง BCSA ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายที่ จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการเงินในภูมิภาค

  • ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ เช่น การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการ

เงิน (FOMC) , ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมี.ค.

จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน-การอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ. เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ