ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างปฏิญญาซานย่าการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 และให้ความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า กรอบความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นเวทีที่ช่วยในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน มุ่งไปที่ความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอย่างรอบด้าน เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งประชาคมอาเซียน
"การให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง นอกจากจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการเปิดการพัฒนาภูมิภาคแล้ว ยังเน้นบทบาทของไทยในการเป็นบทบาทนำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกด้วย" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับร่างปฏิญญาซานย่าการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิก ความสำคัญของความร่วมมือ หลักเกณฑ์ในการดำเนินความร่วมมือ และประเด็นความร่วมมือที่สำคัญใน 3 สาขา ได้แก่ 1.การเมืองและความมั่นคง 2.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 3.การแลกเปลี่ยนด้านสังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
รวมทั้ง 5 ประเด็นที่เป็นความสำคัญลำดับต้นของกรอบความร่วมมือ ได้แก่ ความเชื่อมโยง ความร่วมมืออุตสาหกรรม ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรย้ำและการเกษตร และการลดความยากจน นอกจากนี้ ยังระบุกลไกในการดำเนินความร่วมมือกลไกการประชุม รวมถึงแหล่งเงินทุน
ส่วนร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้ระบุความสำคัญและประโยชน์ของความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิก หลักเกณฑ์ในการดำเนินความร่วมมือ สาขาหลักของความร่วมมือ ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ สถาบันทางการเงิน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน