นายสุพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการมอบบ่อบาดาล 6 บ่อให้ประชาชน 6 หมู่บ้าน 2 อำเภอ ในจ.กาญจนบุรี ซึ่งธ.ก.ส.จะดูแลในส่วนของค่าขุดเจาะบ่อละ 120,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 720,000 บาท
"น่าเห็นใจชาวบ้านที่ยังใช้น้ำสีโอวัลตินในการดำรงชีพ การมอบบ่อบาดาลจึงเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.มีงบประมาณจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ โดยแต่ละปีจะตั้งงบไว้ เพื่อดูแลช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว ลูกเห็บ อัคคีภัย สามารถดำเนินการงานช่วยเหลือได้ภายใต้กรอบวงเงินของกองทุนฯ
"ปีนี้ตั้งไว้ 200 ล้านบาทใช้ไปแล้ว 65 ล้านบาท แต่เราคาดว่าจะใช้ไม่เต็มวง 200 ล้านบาท เพราะนอกเหนือจากธ.ก.ส.แล้วก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เข้าไปช่วยเหลือดูแลด้วยไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ก็จะระมัดระวังไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน แต่ต้องไปช่วยเสริม"
ซึ่งกองทุนนี้มีที่มาจากความเห็นชอบของคณะกรรมการของธ.ก.ส.ได้จัดสรรงบประมาณก้อนใหม่ขึ้นเพื่อจะดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อ
อนึ่ง ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 58/59 สำหรับ 5 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิม (ไม่เกิน 24 เดือน) 2.โครงการสินเชื่อเพื่อปรับปรุง การผลิตด้านการเกษตร 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างงานในชุมชน 4.โครงการสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนแก่วิสาหกิจชุมชน และ 5 โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็น รายละ 12,000 บาท รวมทั้งสินภายใต้กรอบวงเงิน 8.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการใช้งบประมาณดังกล่าวไปแล้ว 60,141 ล้านบาท
ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้จะต้องซื้อน้ำสะอาดใช้ในราคา 80 บาทต่อถังขนาด 1,000 ลิตร ใช้ได้ 7 วันก็ต้องซื้อใหม่ เฉลี่ยเดือนนึงต้องจ่ายค่าซื้อน้ำกินน้ำใช้ประมาณ 300-320 บาท ขณะที่รายได้ก็ไม่มีเพราะทำอาชีพปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งปีนี้ผลผลิตไม่ดีก็ต้องไปหางานทำใน อ.ไทรโยค มีรายได้วันละ 300 บาท หลังจากมีบ่อบาดาลในหมู่บ้าน ทำให้มีน้ำสะอาดใช้ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก และยืนยันว่าจะใช้น้ำอย่างประหยัดเพราะเข้าใจดีว่าการขาดแคลนน้ำทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก