โดยสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(15 มี.ค. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 2,244 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 อีกประมาณ 2,694 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า มีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,976,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 1,350,000 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังรอการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 626,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเหลือปริมาณน้ำน้อยมากนั้น ปัจจุบันยังคงระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ประมาณวันละ 500,000 ลูกบาศก์เมตร ไม่มีการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ทั้งนี้ หากปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอมีแผนนำน้ำก้นอ่างฯ (Dead Storage) มาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนการใช้น้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด มั่นใจปริมาณน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน
ในส่วนของผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(ณ 10 มี.ค. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 132,470 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 2,509.72 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 28,029 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 9,354 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 95,087 คน