โดยการเยือนรัสเซียของรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยได้เสนอตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่ายให้มีการขยายตัว 5 เท่าใน 5 ปี และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกระดับรองนายกรัฐมนตรีและระดับรัฐมนตรีขึ้นมา ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูง (High-level Joint Commission) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน และมี รมต.เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยและรัสเซียไปสู่ระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการร่วมในระดับรัฐมนตรี (Joint Steering Committee) ที่มีคณะทำงานสองฝ่ายเพื่อหารือในการขยายการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งในการหารือวันนี้ก็ได้ขอให้ฝ่ายรัสเซียเร่งรัดการดำเนินการและให้ลงนามจัดตั้งกลไกทั้งสองระดับได้ในช่วงการเยือนของนายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของคณะทำงานสองฝ่ายเพื่อหารือเรื่องสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้เริ่มทำงานได้ก่อนเพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรมในช่วงการเยือนของนายกรัฐมนตรี
สำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นพบว่าจะเป็นประโยชน์กับไทย อย่างไรก็ตามการทำ FTA กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียมีขั้นตอนการดำเนินการและต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกทั้ง 5 ประเทศด้วย ขณะนี้สหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐเบลารุสได้แจ้งให้การสนับสนุนให้ไทยทำ FTA แล้ว ซึ่งไทยยังต้องขอทราบท่าทีของประเทศสมาชิกที่เหลือคือ สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอาร์มีเนีย และสาธารณรัฐคีร์กีซก่อน จึงได้ขอให้รัสเซียช่วยดำเนินการให้ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นว่ารัสเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรกว่า 142 ล้านคน และจัดอยู่ในประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูง ปี 2558 อยู่ที่ 12,700 เหรียญสหรัฐต่อหัว นอกจากนี้ รัสเซียยังอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรด้านพลังงาน คือ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ในด้านภูมิศาสตร์ ไทยสามารถใช้รัสเซียเป็น Gateway ในการขยายการค้าไปยังประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับรัสเซียแล้ว เช่น คาซัคสถาน เบลารุส เป็นต้น รวมทั้งรัสเซียมีความต้องการสินค้าอาหารและให้ความสำคัญกับไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายการส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ข้าว เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ยางพารา และผักและผลไม้ ในปี 2558 มีมูลค่าการค้าการค้ารวม 2,355 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70,650 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินรูเบิล