นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และราคาขึ้นลงตามฤดูกาลทำให้เกษตรกรบางช่วงขายผลผลิตได้ดี บางช่วงขายไม่ได้ราคานั้น กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะให้เกษตรกรรู้วิธีสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสนับสนุนในเรื่องของการแปรรูป การใช้บรรจุภัณฑ์คุณภาพ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ควบคู่กันไป ซึ่งเท่าที่ผ่านมามีหลายจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว เช่น ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ นายชัยยันต์ ยอดคำ พาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ขานรับนโยบายเพิ่มมูลค่าเพิ่มโดยที่พืชไร่ที่สำคัญของจังหวัดได้แก่ กระเทียม และหอมแดง สำนักงานฯ ได้ดำเนินการรณรงค์กระเทียมน้ำปาด ซึ่งเป็นกระเทียมพันธ์ไทยแท้ กลิ่นหอมฉุน มีค่าสารอินทรีย์กำมะถันในเนื้อสูงกว่ากระเทียมอื่น ซึ่งทำให้มีรสชาติดี และสามารถเก็บไว้ได้นานเกิน 6 เดือน เหมาะกับกลุ่มนักกีฬา ผู้รักสุขภาพ นับเป็นกระเทียมคุณภาพ ซึ่งสำนักงานฯ เตรียมจะยื่นขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เร็วๆนี้
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จากเดิมขายเป็นช่อๆ นำมาแกะกลีบบรรจุกล่องสวยงามกล่องๆละ 100 กรัม ขายได้กล่องละ 100 บาทหรือมากกว่า เป็นการยกระดับราคาจากที่เคยขาย กิโลกรัมละ 50 บาท พอใส่กล่องขายได้ราคามากขึ้นกว่าปกติประมาณ 20 เท่าทำความพอใจให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 มีค.นี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์จะจัดกิจกรรมโดยการนำนักชิมระดับชาติคือ"แม่ช้อย นางรำ" มาพิสูจน์ความหอม และรสชาติ โดยมีการชิมทั้งสด และนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารท้องถิ่มคือ แกงผักหวานไข่มดแดง รวมทั้งอาหารอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้มาแข่งขันได้สร้างสรรค์เมนูสุขภาพอื่น
สำหรับหอมแดงปัจจุบันมีการนำไปแปรรูปเป็นหอมเจียวส่งขายร้านอาหารในต่างประเทศ ราคาหอมแดงในพื้นที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ราคาในขณะนี้กระเทียมน้ำปาดสดคละ เกษตรกรขายได้ 35,000 บาทต่อตัน ส่วนหอมแดงสดคละ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 15,000 บาทต่อตัน พาณิชย์จังหวัดรับรองราคาหอม กระเทียมในพื้นที่ปีนี้ดีแน่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรต้องรองรับต้นทุนราคาค่าสูบน้ำเข้าแปลง
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยังมีจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัดที่ดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต เช่นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวไปทำเป็นเครื่องสำอาง หรืออาหารเสริม การแปรรูปมันสำปะหลังทำเป็น ไซรับ การทำน้ำตาลจากมะพร้าว ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มที่สูง รวมทั้งการรณรงค์พืชอินทรีย์ เพื่อเชื่อมโยงกับห้างค้าปลีกจัดทำเป็นกรีนมาร์เกต ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และการผลิตสินค้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร