น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่าะราคาขายเนื้อหมู เนื้อไก่ และ ไข่ไก่ จะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยราคาจะยังไม่เพิ่มขึ้นแน่นอน แม้ต้นทุนการเลี้ยงของผู้เลี้ยงบางรายที่อยู่ไกลแหล่งน้ำอาจเพิ่มขึ้นบ้าง
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวภายหลังการหารือกับผู้เลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ เกี่ยวกับผลกระทบจากภัยแล้งว่า ผู้เลี้ยงไก่และหมูยืนยันตรงกันว่าผลผลิตในช่วงนี้เพียงพอแน่นอน โดยไก่เนื้อมีผลผลิตวันละ 5 ล้านตัน และยังเหลือส่งออก ส่วนหมู ผลผลิตและการบริโภควันละ 35,000 ตัว และส่งออกปีละ 900,000 ตัว สำหรับปัญหาน้ำที่ใช้ในฟาร์มนั้น ผู้เลี้ยงรายใหญ่ระบุว่าน้ำยังมีเพียงพอ แต่ต้นทุนการเลี้ยงของผู้เลี้ยงบางรายที่อยู่ไกลแหล่งน้ำอาจเพิ่มขึ้นบ้างจากการซื้อน้ำเฉลี่ยวันละ 2 คันรถ ราคาคันละ 1,500-2,000 บาท
"ผู้เลี้ยงหมูครึ่งหนึ่ง เลี้ยงในโรงระบบปิดจึงไม่ปัญหา ส่วนอีกครึ่งเลี้ยงในโรงระบบเปิด ซึ่งเป็นรายเล็กและรายกลาง ประสบปัญหาต้นทุนน้ำเพิ่มขึ้น เพราะการเลี้ยงสุกรใช้น้ำปริมาณมาก ทั้งเพื่อทำความสะอาด และบริโภค โดยบางพื้นที่ เช่น ราชบุรี ชลบุรี ได้รับผลกระทบจากการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนแล้ว ทำให้ต้องซื้อน้ำเพิ่ม 1-2 คันรถ ผู้เลี้ยงจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐดูแลระบบน้ำด้วย ซึ่งกรมฯจะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความรู้และทำความเข้าใจการใช้น้ำ และสุขอนามัยด้วย" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
สำหรับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ขณะนี้กิโลกรัม (กก.) ละ 68 บาท ส่วนหมูเนื้อแดงเฉลี่ยกก.ละ 120-130 บาท และน่าจะยืนราคานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้นทุนต่างๆ ยังไม่ปรับขึ้นมาก ประกอบกับ เป็นช่วงปิดเทอมที่การบริโภคไม่มากนัก โดยขณะนี้ กรมฯ กำลังติดตามสถานการณ์พ่อแม่พันธุ์หมูอย่างใกล้ชิด เพราะผู้เลี้ยงระบุว่าแม้ปริมาณผลผลิตในเดือนมี.ค.-พ.ค.นี้ ยังเพียงพอและราคาไม่ปรับขึ้น แต่ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ผลผลิตอาจลดลงได้ เพราะขณะนี้พ่อแม่พันธุ์ลดลง ซึ่งกรมฯ จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนแน่นอน
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าวต่อถึงสถานการณ์ไข่ไก่หลังจากหารือกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ว่า โดยรวมปริมาณไข่ไก่ในปีนี้จะอยู่ที่ 15,560 ล้านฟอง หรือวันละ 42 ล้านฟอง ถือว่าเพียงพอต่อการบริโภคและไม่ขาดแคลนไข่ไก่ แต่ยอมรับว่าในช่วงอากาศร้อนอาจทำให้ไข่ไก่เล็กกว่าปกติ แต่สิ่งที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับผลกระทบยังคงเหมือนเช่นทุกปี คือ ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงหน้าร้อน และการหาแหล่งน้ำเพิ่ม ทำให้ราคาไข่ไก่คละขณะนี้ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 2.90 บาท โดยมีต้นทุนเฉลี่ยฟองละ 2.79-2.80 บาท ส่งผลให้ราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.35 บาท ซึ่งไม่สูงเกินไป โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือลดต้นทุนในด้านต่างๆ ให้เพื่อให้ราคาไข่ไก่ไม่เพิ่มขึ้นในช่วงภัยแล้ง และช่วงเปิดเทอมหน้า