ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ในปี 59 กทท. มีโครงการลงทุนสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator : SRTO) งบลงทุนรวม 2,944.93 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมการประมูลราคา โดยในวันที่ 25 มี.ค.59 จะเปิดประมูลราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ซึ่งมีผู้มีสิทธิประมูลราคา 2 ราย จากผู้ที่ยื่นซองประมูลมา 4 ราย ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเปิดดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2561 โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน
ทั้งนี้ โครงการ STRO จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้านTEU/ปี สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ 6 ราง ในเวลาเดียวกันทำให้มีพัฒนาการเชื่อมกับการขนส่งตู้สินค้าทางรางให้เกิดความสะดวกและนำเทคโนโลยีมาใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อลดขั้นตอนและเวลาในการให้บริการในท่าเรือและการขนถ่ายตู้สินค้าได้รวดเร็ว
นอกจากนี้ กทท.ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาด 17 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารที่ทำการ กทท.ปัจจุบันให้เป็นศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี มูลค่าลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดย กทท.ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการตลอดอายุสัญญา แต่เมื่อครบกำหนดสัญญาต้องโอนทรัพย์สินให้แก่ กทท. ซึ่ง กทท.จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณา
ร.อ.สุทธินันท์ กล่าวว่า กทท.ยังมีแผนนำพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ประมาณ 500 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนอยู่ราว 20 ชุมชน เพื่อให้ย้ายที่อยู่ออกไปก่อน จากนั้นทาง กทท.จะสร้างที่อยู่อาศัยหรือแฟลตให้ใหม่เพื่อทดแทนชุมชนเดิมและให้เช่าในราคาถูก ซึ่งเบื้องต้นที่ได้เข้าไปพูดคุยแล้วทางชุมชนแต่ละแห่งก็ไม่ขัดข้อง ปัจจุบันพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีจำนวน 2,000 ไร่ แต่ใช้พื้นที่สำหรับกิจการของ กทท.เพียง 700 ไร่ ดังนั้น จึงเห็นว่า กทท.มีโอกาสนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"เป็นโครงการใหญ่มาก เราต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาล ซึ่งอาจจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี และชี้แจงทำประชาพิจารณ์อย่างน้อยใช้เวลา 2 ปี" ผู้อำนวยการ กทท. กล่าว
ส่วนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง งบลงทุนรวม 1,864.19 ล้านบาท ขณะนี้ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 23 เดือน คาดว่าจะสามารถเปิดบริการปีงบประมาณ 2561 ทั้งนี้ โครงการนี้มีความสามารถรองรับขนาดระวางบรรทุก 3,000 DWT ขนตู้สินค้าได้คราวละ 200 TEU และ ขนาด 1,000 DWT ขนตู้สินค้าได้คราวละ 100 TEU ได้อย่างละ 1 ลำ พร้อมทั้งติดตั้งปั้นจั่นหน้าท่า และปั่นจั่นจัดเรียงตู้สินค้าในลานเพื่อให้สามารถรับตู้สินค้าได้ถึง 300,000 TEU/ปี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนท่าเรือขนส่งสินค้าทางลำน้ำของเอกชน ช่วยให้การบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบังมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการ กทท. คาดว่าในปีนี้ ปริมาณขนส่งสินค้าจะเติบโต 5% โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 ปริมาณขนส่งสินค้าเติบโตเฉลี่ย 2% โดยท่าเรือกรุงเทพเติบโตลดลง 4% ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังมีอัตราเติบโต 3% ทั้งนี้ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยที่ยังเติบโตได้ดี คือกลุ่มยานยนต์ แม้ว่าการส่งออกรถยนต์ทั้งคันจะเติบโตไม่มาก หรือเพียง 2-3% แต่การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เติบโตอย่างมาก