พาณิชย์เผยปีนี้ธุรกิจไทย 8 สาขามีโอกาสเติบโตได้ดีรับการลงทุนจากเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 20, 2016 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ได้รายงานปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเยอรมนีประสบความสำเร็จและแนวนโยบายได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามาจากปัจจัยพื้นฐาน เริ่มจากโครงสร้างระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นให้บุคคลากรที่จบออกมาสามารถทำงานได้จริง โครงการสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกส์ที่ดีที่สุด ความสามารถเปิดตลาดของผู้บริโภคชาวเยอรมัน และเป้าหมายที่มุ่งมั่นให้เยอรมนียังเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของยุโรป

อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก SMEs ในเยอรมนีเผชิญความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ เหมือนทั่วโลก ดังนั้นการจะรักษาความสำเร็จของ SMEs ให้ดำเนินต่อไป หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของเยอรมนีได้ออกมามาตรการสนับสนุน ทั้งด้านงบประมาณ โครงการ ผู้เชี่ยวชาญ โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ การป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การลดความยุ่งยากจากกฎระเบียบต่างๆ การปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิตอล การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน รวมถึงมีโครงการเพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของเยอรมนีให้สามารถขยายตลาดในสหภาพยุโรป (อียู) มากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของเยอรมนี ตามมาด้วยตลาดเอเชีย

โดยธุรกิจของไทย 8 สาขาที่เจริญเติบโตได้ดีและเป็นโอกาสของนักลงทุนเยอรมันในปี 2559 ได้แก่ เครื่องจักร รถบรรทุก/รถกระบะ/อีโคคาร์ เคมีภัณฑ์ การก่อสร้างโครงการพื้นฐาน การสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการแพทย์ และการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันไทยยังมีความพร้อมต่อการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เป็นอย่างดี มีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ในสาขาพลังงาน ก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ บริการสุขภาพและการท่องเที่ยว และกรุงเทพฯ มีศักยภาพในการเป็นสำนักงานภูมิภาค จึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนเยอรมันจะเข้ามาแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันหรือเสริมกัน เพื่อขยายธุรกิจหรือหาตลาดโดยใช้ไทยเป็นฐาน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรพลังงาน บริการสุขภาพ การท่องเที่ยว

"เพื่อสร้างศักยภาพให้กับ SMEs ของไทยให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไทยอาจนำแนวทางการปรับตัวของเยอรมนีหรือยุโรปมาปรับใช้และควรมีความชัดเจน ตลอดจนมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักหรือจูงใจให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สนับสนุนบริษัทเกิดใหม่ (Start Up) ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น การพัฒนาบุคคลากร เพื่อป้องกันการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ เป็นต้น" นางมาลี กล่าว

อนึ่งบริษัทในเยอรมนีกว่า 99% เป็น SMEs และกว่า 55% ของผลผลิตรวมของเศรษฐกิจมาจาก SMEs นิยามคำว่า SMEs หรือ Mittelstand ในภาษาเยอรมัน คือ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน และมีผลประกอบการไม่เกิน 50 ล้านยูโรต่อปี

ด้านสมาคม SMEs ของเยอรมนี เห็นว่า เยอรมนีและอียูยังต้องปรับตัวอีกมาก มิฉะนั้นจะสูญเสียโอกาส แม้ว่าเยอรมนีจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของโลกที่สำคัญหลายอย่าง แต่กลับไม่มีนวัตกรรมด้านเครือข่ายโทรคมนาคม เทคโนโลยี หรือครอบครองข้อมูลเครือข่าย หรือการที่บริษัทในยุโรปไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ตกับผู้ผลิตจากต่างประเทศ เช่น แอปเปิ้ล ซัมซุง หรือ การที่ไมโครซอฟท์ เข้าซื้อโนเกีย ถือเป็นสัญญานว่า ยุโรปกำลังจะสูญเสียความสามารถในยุคดิจิตอลไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้สาขาที่เยอรมันต้องปรับตัวอย่างมาก ได้แก่ การผลิตเครื่องจักร เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Smart Factory บริการการเงิน เพื่อลดการใช้เงินสดและสายการผลิตมากขึ้น การแพทย์เพื่อมุ่งไปสู่ Telemedicine หรือ การเกษตรที่มีเชื่อมข้อมูลด้านต่างๆ เช่น การผลิต การเก็บเกี่ยว แปรรูป บรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษาเพื่อให้เข้ากับภูมิอากาศและตลาด (smart framing) เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ