นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า สหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 19-28 มีนาคม 2559 เพื่อการบำรุงรักษาประจำปี ทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากสหภาพเมียนมาร์หายไปประมาณ 630 ล้านลูกบาศก์ต่อฟุต/วัน จากสภาพปกติส่งให้วันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ต่อฟุต/วัน ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในฝั่งภาคตะวันตกบางส่วนไม่มีเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตามกฟผ. ได้สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติฝั่งภาคตะวันออก และโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และเดินเครื่องด้วยน้ำมันบางส่วนทดแทน โดยมั่นใจว่ากรณีดังกล่าวจะไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ
“กฟผ. ได้ปลดโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เหลือเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี เครื่องที่ 1, 2 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ ชุดที่ 1, 2 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 3 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีเดินเครื่องทดแทนด้วยน้ำมัน ส่วนภาคตะวันออกได้เดินเครื่องเพิ่มที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกงด้วยน้ำมันบางส่วน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเอกชนด้วยน้ำมันบางส่วนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ทดแทน เสริมความมั่นคงของระบบให้มีความมั่นคงขึ้น ส่วนด้านระบบส่ง ได้มีการตรวจสอบสายส่ง และอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งานก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ และหยุดการบำรุงรักษาระบบส่งช่วงหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติแล้ว"นายสุธน กล่าว
นายสุธน กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่าการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้าในช่วงดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า แต่ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ตามมาตรการ 4 ป. คือ ปิดไฟฟ้าดวงที่ไม่ได้ใช้ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊ก ไฟที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน ตลอดจนประหยัดการใช้น้ำในช่วงวิกฤตภัยแล้งด้วย ซึ่งจากภาวะภัยแล้งจัดจากเอลนิโญ ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถติดตามดูสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าประจำวันตลอดเวลาแบบ Real Time ได้ที่ www.so.egat.co.th/genmapchart/GenChartEN.aspx เพื่อช่วยกันรณรงค์ลดการใช้พลังงานร่วมกันทั้งประเทศ