นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนา Post FORUM 2016 ปีทองของการลงทุนในประเทศไทย" โดยมองว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความน่าสนใจหรือมีแรงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดน้อยลง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม กลับมีความน่าสนใจและดึงดูด FDI เพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่มองว่ายังเป็นจุดอ่อนของไทยต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ คือ ความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง และมีผลทำให้นโยบายการบริหารประเทศขาดความต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนนโยบายบ่อยครั้งจนสร้างความสับสนต่อนักลงทุน ดังนั้นในประเด็นนี้จึงถือเป็นความท้าทายของไทยว่าจะสามารถดำเนินนโยบายด้านการลงทุนให้มีความต่อเนื่องได้อย่างไร
"ความต่อเนื่องของนโยบายเรายังมีจุดอ่อน เพราะรัฐบาลอายุสั้น นโยบายเลยปรับเปลี่ยนไปมาทำให้นักลงทุนสับสน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายว่าจะทำให้ต่อเนื่องได้อย่างไร ในเมื่อรัฐบาลอายุสั้น"ประธาน TDRI กล่าว
นอกจากนี้ ระดับความยากง่ายของการทำธุรกิจในประเทศไทยถือว่ารัฐบาลยังทำได้ไม่ดีพอ แต่เชื่อว่าหากภาครัฐประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้นในการทบทวนกฎระเบียบครั้งใหญ่ เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของนักลงทุนแล้วก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญว่าจะทำได้ทันต่อสถานการณ์มากแค่ไหนท่ามกลางภาวะที่หลายประเทศต่างต้องการการลงทุนจากต่างประเทศเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นว่ารัฐบาลดำเนินการไปได้ค่อนข้างมากและสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนได้มากพอสมควร คือ มาตรการทางภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุน เช่น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% จากเดิม 30% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราภาษีที่ดึงดูดการลงทุนได้ไม่แพ้ประเทศใดในอาเซียน
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมีผลโดยตรงราคาที่ดินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากรัฐบาลมีการกำหนดแผนงานที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยในการตัดสินต่อการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า กทม.ทั้ง 10 สาย โครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง โครงการถนนมอเตอร์เวย์ การขยายสนามบิน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
"โครงการรถไฟความเร็วสูงมีผลต่อราคาที่ดินค่อนข้างมากแต่ส่งผลน้อยต่อด้านอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ แต่หากเป็นโครงการรถไฟฟ้า กทม.มีผลต่อราคาที่ดิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิส่งผลดีในด้านธุรกิจท่องเที่ยว และเรื่องต้นทุนโลจิสติกและโครงการสร้างทางหลวงมอเตอร์เวย์และการพัฒนาท่าเรือ จะส่งผลต่อราคาที่ดินและเรื่องต้นทุนโลจิสติก"นายอธิป กล่าว
นอกจากนี้ ขอฝากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการกำหนดผังเมืองใหม่ โดยอยากให้มองไปในยุทธศาสตร์อีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะวางประเทศไทยอยู่ตรงไหนของภูมิภาคอาเซียน และอยากให้มีการแบ่งโซนนิ่งให้เกิดประโยชน์ในทุกพื้นที่ให้สอดคล้องกับการกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่น และคำนึงถึงด้านโลจิสติกส์ด้วย