ศูนย์วิจัยกสิกรฯมองโครงการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปช่วงแรกมีผู้สนใจในวงแคบ หลังต้นทุนสูง-คืนทุนนาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2016 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปนำร่องของภาครัฐ จะผลักดันให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า แต่ยังมีปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป คือเงื่อนไขของต้นทุนในการติดตั้งและระยะเวลาในการคืนทุน ที่เอื้อให้ผู้บริโภคมองเห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้มองว่าในระยะแรกกลุ่มเป้าหมายที่สนใจโครงการอาจจะยังอยู่ในวงค่อนข้างจำกัด ในกลุ่มของภาคธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันในปริมาณสูง

ขณะที่ในกลุ่มภาคครัวเรือน คาดว่าผู้บริโภคที่เข้าข่ายจะให้ความสนใจ อาจจะเป็นผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และมองเห็นโอกาสการลงทุนในอนาคตเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามหากต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มลดลงอีกในระยะข้างหน้า ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จนทำให้ระยะเวลาการคืนทุนสั้นลง ประกอบกับภาครัฐสร้างแรงจูงใจ อาทิ นโยบายด้านการลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถาบันการเงิน ก็คาดว่าจะสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่ภาครัฐให้การส่งเสริมภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี 58-79 (PDP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เป็นหลัก เนื่องจากต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันที่จ่ายไฟแล้วและรอจ่ายไฟเข้าระบบรวมทั้งสิ้น 2,300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นจำนวนเกือบครึ่งของเป้าหมายการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 79

จนในระยะหลังภาครัฐเกิดความกังวลว่า การเร่งรับซื้อพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนการผลิตสูง อาจจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าสำรองที่อยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกัน ก็เกิดการติดขัดและความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับข้อกฎหมายของการขออนุญาตติดตั้ง จึงทำให้การลงทุนในส่วนนี้อยู่ในช่วงชะลอตัว เพราะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ส่งผลให้ในนักลงทุนบางส่วนเริ่มหันไปมองหาโอกาสในตลาดต่างประเทศทดแทน

แต่ล่าสุดภาครัฐได้ออกนโยบายเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป หรือการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนที่พักอาศัยและอาคาร โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ดำเนินโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ นำร่องติดตั้งในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการติดตั้งในที่พักอาศัย 10 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายการผลิตเพื่อใช้เองภายในครัวเรือน/อาคารเป็นหลัก (โดยไม่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ) ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป น่าจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

"การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของวงการพลังงานทดแทนที่เปิดกว้างและผลักดันให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าเบื้องต้นนั้นอาจจะไม่มีการขายหรือจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดหรือแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับภาคประชาชน และยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินความคุ้มค่าด้านการลงทุนและระยะเวลาคืนทุนสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยพบว่าภาคครัวเรือน ที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 3 กิโลวัตต์ พบว่า ต้นทุนในการติดตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 210,000 บาท โดยประเมินว่าระยะเวลาคืนทุนจะอยู่ในช่วง 12.8 ปี และสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 16,392 บาท/ปี (หรือประมาณ 1,370 บาท/เดือน) ส่วนภาคธุรกิจ กรณีที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 40 กิโลวัตต์ พบว่าต้นทุนในการติดตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 2,800,000 บาท โดยคาดว่าระยะเวลาคืนทุนจะอยู่ในช่วง 12.8 ปี และสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 218,536 บาท/ปี (หรือประมาณ 18,200 บาท/เดือน)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ