นางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบจัดทำโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้สนับสนุนสินเชื่อ “โครงการบ้านประชารัฐ" วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.สินเชื่อพัฒนาโครงการ (Pre Finance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นำไปจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-2 เท่ากับ 4 % ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MLR – 1% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.65% ต่อปี)
2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) สำหรับประชาชนทั่วไป วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนแยกออกเป็น (1.) วงเงินกู้เพื่อซื้อหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 700,000 บาท หรือกรณีกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 1 ปีแรก ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปีที่ 4-6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ย MRR–0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.75% ต่อปี) (2.) วงเงินกู้เพื่อซื้อหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 700,000 บาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 4–6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR–1% ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย MRR–0.75% ต่อปี โดยผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ยกเว้นกรณีซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ซึ่งมูลค่ารวมของที่ดินและที่อยู่อาศัยที่จะขอกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
“วัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม และซื้อทรัพย์ NPA ซึ่ง ธอส.มีทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 2,300 รายการ และเพื่อให้ลูกค้าประชาชนมีโอกาสได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้นเพียงพอต่อการซื้อบ้านในฝันของตนเอง ธอส.จึงผ่อนปรนสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) เพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือนกรณีลูกค้ารายย่อย กรณีลูกค้าสวัสดิการที่ทำข้อตกลงหักเงินเดือนกับธนาคารจะใช้ DSR ที่ 80% ของรายได้สุทธิ ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี ซึ่งจะทำให้วงเงินกู้ของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น และอัตราผ่อนชำระรายเดือนลดลง อาทิ กรณีวงกู้ไม่เกิน 700,000 บาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 3 ปีแรกเพียง 3,000 บาท/เดือน วงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 7,200 บาท/เดือน กรณีกู้ซ่อมแซม / ต่อเติม วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 2,100 บาท/เดือน "นางไลวรรณ กล่าว
สำหรับลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 22 มีนาคม 2559 หรือภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท