ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการค้าชายแดนด่านแม่สอดทะลุแสนลบ.ปี 61 จากการพัฒนาเขตศก.พิเศษ-ขจัดอุปสรรคด้านขนส่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2016 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงขาลงจากหลากหลายปัญหา และมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของโลกต้องอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมถึงการส่งออกของประเทศไทยในปี 58 ที่ติดลบ 1.2% ในรูปเงินบาท และติดลบถึง 5.8% ในรูปดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่การค้าชายแดนของไทยในปี 58 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 588,105 ล้านบาท หดตัวเพียง 0.3% เมื่อเทียบกับปี 57 และหากไม่นับรวมมาเลเซียซึ่งการส่งออกชายแดนติดลบ 9.1% จากราคายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ตกต่ำแล้ว การส่งออกชายแดนของไทยไปยังเมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชาขยายตัวถึง 7.4% ในปี 58

ทั้งนี้ เมียนมานับเป็นประเทศคู่ค้าทางชายแดนที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของไทยรองลงมาจากมาเลเซีย โดยมีสัดส่วน 21% ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม ขณะที่ สปป.ลาวมีสัดส่วน 18% และกัมพูชามีสัดส่วน 12% ตามลำดับ โดยด่านการค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ ด่านแม่สอด จังหวัดตาก คิดเป็นสัดส่วน 68% ของมูลค่าการส่งออกชายแดนไทย-เมียนมาทั้งหมด สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตร ซึ่งจากด่านแม่สอดนี้ สามารถขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองสำคัญอื่นๆของเมียนมาอย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ได้ รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย และบังกลาเทศ ส่งผลให้ด่านแม่สอดนับเป็นด่านที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จังหวัดตากได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องในระยะที่ 1 จากทั้งหมด 6 จังหวัด (ตาก สระแก้ว ตราด สงขลา มุกดาหาร และหนองคาย) โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่กว่า 8 แสนไร่ใน 3 อำเภอ ซึ่งได้แก่ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และอ.พบพระ

นอกจากนี้ เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นว่า แม่สอดนับเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า และจะมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคมากขึ้นหากมีการพัฒนาคู่ขนานไปกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาในเมียวดี

อย่างไรก็ตาม การที่แม่สอดจะก้าวไปเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ และศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาคอย่างแท้จริง ระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่รอบๆยังต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น การขยายสนามบินแม่สอด การสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ การให้บริการตรวจปล่อยสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Stop Inspection: SSI) และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการแรงงาน เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจในแม่สอดยังติดปัญหาอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาด้านการขนส่ง อาทิ ปัญหาการจราจรแออัดบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา (สะพานข้ามแม่น้ำเมย) แห่งที่ 1 สภาพถนนในเมียนมาที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา กฎระเบียบระหว่างประเทศที่ยังไม่สอดคล้องกัน และปัญหาชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยจึงได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือการขยายถนนระหว่างเมียวดี –กอกาเร็กในรัฐกะเหรี่ยงเป็นระยะทาง 45 กิโลเมตร จาก 1 ช่องจราจรเป็น 2 ช่องจราจร และเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อ 30 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบัน ถนนในบริเวณดังกล่าวสามารถวิ่งสวนกันได้จากเดิมที่ต้องเดินทางแบบสลับวันคู่วันคี่ ส่งผลให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าสามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นจากที่ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงก็เหลือเพียงประมาณ 45 นาที ในขณะที่ เส้นทางจากกอกาเร็กไปยังเมืองผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรยังไม่ได้รับการปรับปรุงจึงทำให้ไม่สะดวกต่อการขนส่งสินค้า อย่างไรก็ดี เมียนมากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวโดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562

นอกจากการพัฒนาถนนจากเมียวดีเข้าไปยังเมียนมาแล้ว หนึ่งในการแก้ไขปัญหาจราจรแออัดบริเวณจุดผ่านแดนแม่สอด คือการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียน หรือสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปี 2560 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากสะพานแห่งที่ 2 นี้สร้างเสร็จจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปเมียนมาผ่านทางชายแดนอ.แม่สอดเพิ่มขึ้นทะลุ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2561 จากมูลค่าการส่งออกในปี 2558 ที่ผ่านมา ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจบริเวณจุดผ่านแดนแม่สอด สิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดให้ได้มากที่สุด คือ วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภค รสนิยม และการเลือกซื้อสินค้าของชาวเมียนมา โดยถึงแม้เมียวดีจะมีประชากรไม่มาก และมีกำลังซื้อน้อยกว่าในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ แต่เมียวดีนับเป็นเมืองกระจายสินค้าที่สำคัญ ทำให้กำลังซื้อส่วนใหญ่ในเมียวดีจะเป็นพ่อค้าคนกลางที่สั่งซื้อสินค้าจากไทย หรือเข้ามารับสินค้าจากฝั่งไทย แล้วจึงขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆต่อไป นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าเศรษฐกิจเมียวดีน่าจะมีความคึกคักมากขึ้นจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งในไทยและเมียนมา ดังนั้น กำลังซื้อของผู้บริโภคในพื้นที่จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สินค้าแบรนด์ไทยยังคงได้รับความนิยมจากชาวเมียนมามากที่สุด เนื่องจากความเชื่อถือด้านคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อะไหล่ยานยนต์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร และเครื่องสำอาง แม้ว่าราคาจะสูงกว่าสินค้าจากจีน นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เมียนมามีแผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นถนน และอาคารสำนักงานต่างๆ ทำให้ความต้องการสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเพื่อการซื้อไปใช้ในครัวเรือน และเพื่อนำไปจำหน่ายต่อยังจังหวัดต่างๆของเมียนมา สำหรับคู่แข่งนั้น สินค้าจากจีน และเวียดนามนับเป็นคู่แข่งที่สำคัญ เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่า และชาวเมียนมาค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคามาก

นอกจากนี้ ข้อควรคำนึงในการเจาะตลาดเมียนมา คือ การมีพันธมิตรท้องถิ่น และการติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงเริ่มต้นอาจเจาะตลาดผู้บริโภคผ่านช่องทางของพ่อค้าคนไทยที่อยู่ตามชายแดน และมีความสัมพันธ์อันดีกับพ่อค้าชาวเมียนมาอยู่แล้ว และเมื่อสามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจชาวเมียนมาที่ไว้ใจได้แล้วก็อาจขยับเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเมียนมาด้วยตนเอง ทั้งนี้ จากปัจจัยต่างๆทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับปรุงเส้นทางคมนาคม และการขยายตัวของเมือง ประกอบกับทำเลที่ตั้งที่เป็นประตูการค้าของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อ.แม่สอดนับเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจของผู้ประกอบการในการเข้าไปทำธุรกิจได้ในหลายรูปแบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ