ปลัดเกษตรฯ เผยราคายางปัจจุบันสูงขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2016 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ราคายางในปัจจุบันถีบตัวสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งยางแผ่นดิบ และแผ่นยางรมควัน เป็นผลจากโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ

จากภาวะที่ราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยาง รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) โดยการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ มาแก้ปัญหาราคายาง

ซึ่งภายหลังสิ้นสุดการรับแจ้งสิทธิ์เข้าร่วมโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตั้งแต่ช่วงปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจำนวนเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 804,127 ครัวเรือน และ กยท. ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว 491,048 ครัวเรือน แบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 491,048 ครัวเรือน และคนกรีดยาง 469,181 ครัวเรือน รวมเป็นเงิน 7,198,622,475 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2559)

ในส่วนของโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เริ่มทยอยปิดจุดรับซื้อยางทั่วประเทศ เนื่องจากยางเริ่มผลัดใบไม่สามารถกรีดยางได้ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งจุดรับซื้อ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณยางที่รับซื้อทั้งหมด 2,891.11 ตัน จากเกษตรกร 26,665 ราย คิดเป็นเงิน 121,467,793.30 บาท แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 จำนวน 533.97 ตัน น้ำยางสด จำนวน 796.25 ตัน และยางก้อนถ้วย จำนวน 1,560.89 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2559) ทั้งนี้ หลังจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป เมื่อเกษตรกร กรีดยางได้ ทาง กยท. จะเริ่มเปิดจุดรับซื้อยาง ตามโครงการฯ อีกครั้ง ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559

“ทั้ง 2 โครงการ ที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางนั้น เป็นการช่วยเกษตรกรเฉพาะหน้าระยะสั้น และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคายางในปัจจุบันถีบตัวสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งยางแผ่นดิบแตะที่ระดับ 43.80 บาท/กิโลกรัม และแผ่นยางรมควันอยู่ที่ระดับ 48.52 บาท/กิโลกรัม และพร้อมสนับสนุนในเรื่องของการแปรรูปยาง เพื่อกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ทาง กระทรวงเกษตรฯ หวังว่า มาตรการต่าง ๆ ที่นำออกมาใช้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” นายธีรภัทร กล่าว

ด้านนายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการได้กู้สินเชื่อไปใช้ขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ณ ที่ตั้งเดิม หรือ ที่ตั้งใหม่ กำลังอยู่ในช่วงเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอพร้อมเอกสาร ตั้งแต่วันนี้ – 12 ก.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ