นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.58 ถึงปัจจุบัน (22 มี.ค.59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 2,369 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 อีกประมาณ 2,564 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในส่วนของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และหลายฝ่ายมีความกังวลว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอใช้ก่อนฝนมา ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่, เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ, เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา, เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี, เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์, เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี และเขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรานั้น กระทรวงเกษตรฯ ขอชี้แจงว่าปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าว ทั้ง 10 แห่ง ได้มีแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน
"ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนการใช้น้ำต้องร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ อีกทั้งยังจะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต" ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
สำหรับกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนว่า ในช่วงวันที่ 24 - 26 มี.ค.59 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นโดยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมพัดแรง ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อาจจะทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านที่บางไทร ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ตอนล่างให้ปิดประตูน้ำตามคลองต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไป ตลอดจนไม่ให้สูญเสียน้ำจืดในการผลักดันน้ำเค็ม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวงด้วย
นายธีรภัทร ยังกล่าวถึงผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ พบว่าล่าสุด (21 มี.ค. 59) กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 139,216 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 2,552.61 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 28,250 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 9,354 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 101,612 คน