นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจพบความเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 2.87 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ 17 มีนาคม 2559) เกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงดังกล่าว กรณีแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าความเสียหาย 6,955.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าความเสียหาย 6,240.80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าความเสียหายรวม
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) โดยมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 32,384.54 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานทั้ง 8 มาตรการช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ 18 มีนาคม 2559) มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 11,272.21 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านราย
ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 601,775 ราย จากกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ จ้างงานของกรมชลประทาน การช่วยเหลือของสหกรณ์ และอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละมาตรการ ยังคงมีกิจกรรมหรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้