นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจพบความเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 2.87 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ 17 มีนาคม 2559) เกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย
"ในความเสียหาย 2.87 ล้านไร่ เป็นข้าวประมาณ 2 ล้านไร่ เป็นพืชไร่ประมาณ 8.6 แสนไร่ และพืชสวนประมาณ 5 พันกว่าไร่ ถ้าเอาทั้ง 2.87 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสิ้นเชิงประมาณ 15,514 ล้านบาท พบว่าเป็นข้าวประมาณ 8.5 พันล้านบาท พืชไร่ ประมาณ 6.8 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นพืชสวน"
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิงดังกล่าว กรณีแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าความเสียหาย 6,955.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าความเสียหาย 6,240.80 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าความเสียหายรวม
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) โดยมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 32,384.54 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานทั้ง 8 มาตรการช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ 18 มีนาคม 2559) มีผลการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 11,272.21 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านราย
ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ 601,775 ราย จากกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ จ้างงานของกรมชลประทาน การช่วยเหลือของสหกรณ์ และอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละมาตรการ ยังคงมีกิจกรรมหรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้
"ทั้ง 8 มาตรการ 45 โครงการ จนถึงตอนนี้ยังดำเนินการอยู่ การช่วยเหลือยังทยอยทำเพิ่มไปเรื่อยๆ ขณะที่การช่วยเหลือเกษตรกรในระยะเร่งด่วนก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงได้มีโครงการอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์โดยวิทยากรของกระทรวงเกษตร เช่น ความรู้เบื้องต้น ความรู้การประกอบอาชีพเสริม ความรู้เรื่องการแปรรูป ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือน1 ก.พ.59-31 พ.ค.59 ตามแผนจะอบรม 3 ครั้งๆละ 5 รุ่น ซึ่งจากการประเมินผลหลังดำเนินการมาแล้วครึ่งทางโครงการพบว่าเกษตรกรค่อนข้างพอใจ โดย 96% ของกลุ่มตัวอย่างพอใจโครงการ เพราะมีประโยชน์ได้รับความรู้หลากหลาย และยังมีมิติสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง และในศูนย์เรียนรู้ยังมีฐานเรียนรู้อื่นๆนอกเหนือจากหลักสูตรที่อบรมด้วย และเกษตรกรที่ได้ผ่านการอบรมยืนยันจะนำความรู้ที่ได้รับไปวางแผนและใช้ประโยชน์ต่อ"นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ฝนจะเริ่มตกในช่วงเดือนพ.ค.นี้ และคาดว่าปริมาณฝนจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนและเกษตรคงยังไม่สามารถใช้น้ำอย่างปกติได้เต็มที่มากนัก เพราะช่วงแรกคงจะต้องให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสูงขึ้นจนเต็มอ่าง เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับรักษาระบบนิเวศน์ก่อน
"กรมอุตุฯคาดหมายว่าในเดือนพฤษภาคม 59 จะมีฝนมากกว่าพฤษภาคม 58 ที่ฝนมาช้าและปริมาณน้อยมาก แต่พฤษภาคมนี้ฝนจะมาในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และนักพยากรณ์อากาศทั้งหลายคาดว่าเอลนีโญ(แห้งแล้ง) ที่ลากมาตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบันจะมีแนวโน้มเอลนีโญลดลงเรื่อยๆ แต่มีโอกาสเกิดสภาวะลานีญาในช่วงปลายปี 59"
ดังนั้น เราจึงประมาณการว่าเศรษฐกิจการเกษตรจะมีแนวโน้มขยายตัว แม้ว่าไม่มากนักแต่อยู่ในแนวโน้มขยายตัว