ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในปีนี้ ยังคงมีความท้าทายอยู่อีกมากพอสมควร เพราะนอกจากจะเผชิญกับภาวะการค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนแล้ว การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกที่เป็นรายการสำคัญก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้เร็ว ตราบใดที่คำสั่งซื้อจากตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และยุโรป ยังคงมีภาพที่อ่อนแอ
ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด มูลค่าการส่งออกของไทยพลิกกลับมาเติบโตถึง 10.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้การส่งออกที่ขยายตัวสูงในเดือนก.พ.59 จะช่วยล้างภาพการหดตัวของเดือนม.ค.59 ที่ -8.9% ได้ และหนุนให้ภาพรวมของการส่งออกขยายตัวได้ 0.67% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ก็ตาม แต่สัญญาณดังกล่าวอาจจะยังไม่ถือเป็นภาพบวกมากนักต่อภาคการส่งออกของไทย เพราะหากไม่นับรวมรายการพิเศษจากการส่งออกทองคำ เฮลิคอปเตอร์และยานยนต์ซ้อมรบแล้ว สถานการณ์การส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญอื่นๆ ของไทยก็ยังคงมีภาพที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ การขยายตัวสูงของการส่งออกเดือนก.พ.59 มาจากหลายปัจจัยพิเศษที่เกิดขึ้นเฉพาะในระหว่างเดือน ซึ่งอาจจะมีแรงหนุนลดลงต่อมูลค่าการส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาทิ 1.สถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของมูลค่าการส่งออกทองคำ ที่ 1,890 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.พ.59 ขยายตัวสูงถึง 1,051% โดยปริมาณการส่งออกทองคำในเดือนนี้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 50,992 กิโลกรัม ตามแรงเก็งกำไร หลังจากที่ราคาทองคำในประเทศพุ่งขึ้นเหนือระดับ 20,500 บาทต่อบาททองคำ ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นไปใกล้ระดับ 1,250 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ และ 2.การส่งออกเฮลิคอปเตอร์และยานยนต์ที่ใช้ในการซ้อมรบกลับออกไป (หลังการร่วมซ้อมรบกับกองทัพไทยแล้วเสร็จ) ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 683 ล้านดอลลาร์ฯ
ดังนั้น หากหักการส่งออกน้ำมัน, ทองคำ และรายการพิเศษจากการส่งออกเฮลิคอปเตอร์และยานยนต์ซ้อมรบออกไป จะทำให้การส่งออกสินค้าปกติของไทยในเดือน ก.พ.59 ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ -2.0%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า รายละเอียดของข้อมูลการส่งออกล่าสุดสะท้อนว่าความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลต่อการส่งออกสินค้าสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ อาหารทะเลแช่แข็ง/กระป๋อง/แปรรูป
ขณะที่ สินค้าในกลุ่มที่มีราคาส่งออกเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก (เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก) ก็ยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว ตราบใดที่ราคาน้ำมันยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน
"หลังจากที่ภาพรวมการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ขยายตัวได้ 0.67% ดังนั้น การที่การส่งออกของไทยทั้งปี 59 จะสามารถเลี่ยงตัวเลขที่ติดลบได้นั้นสถานการณ์การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่เหลือของปีจะต้องมีมูลค่าการส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ฯ สูงกว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 17,350 ล้านดอลลาร์ฯ (ทั้งที่รวมผลของเดือนก.พ. ที่มีแรงหนุนจากการส่งออกทองคำ และรายการสินค้าส่งกลับในกลุ่มยุทโธปกรณ์)" เอกสารเผยแพร่ ระบุ