รมว.คลัง เล็งเสนอมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว-กินอาหารเข้าครม.พรุ่งนี้เพื่อให้ทันเทศกาลสงกรานต์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2016 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ครั้งที่ 3 โดยระบุว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 ในด้านต่างๆ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาค่อนข้างมาก โดยทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่เชื่อว่ามาตรการที่เตรียมไว้จะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสาระของมาตรการจะช่วยประชาชนลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงมาตรการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ สำหรับกลุ่มที่มีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยแต่ยังชะลอไว้อยู่

"มีความเป็นไปได้ที่พรุ่งนี้จะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวและการรับประทานอาหาร วงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทให้ ครม.พิจารณา โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมไว้ไม่จำเป็นต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาพร้อมกันทั้งหมด คงเป็นการทยอยเอาเข้า ส่วนจะเข้าตอนไหนคงต้องรอตามความเหมาะสม เพราะแต่ละเรื่องที่เสนอเข้าไปแต่ละส่วนก็ต้องเวียนกันพิจารณา หากมีส่วนไหนติง หรือตั้งข้อสังเกตมา กระทรวงการคลังก็ต้องเอากลับมาดูใหม่ แต่มาตรการให้ความช่วยเหลือหลักๆ จะเน้นไปที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต้องไปดูว่ามีใครบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีมาตรการออกมาช่วยเยอะพอสมควร ต้องไปดูตรงนี้ด้วยว่ามาตรการที่เคยออกไปนั้นได้ส่งผลดีถึงกลุ่มที่ยังเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าไม่ เราก็ต้องเติมความช่วยเหลือลงไปใหม่" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ส่วนมาตรการฟื้นฟูผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรนั้นสามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน โดยเฉพาะโครงการอัดฉีดเม็ดเงินตำบลละ 5 ล้านบาทของกระทรวงมหาดไทย มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 90% หรือคิดเป็นโครงการลงทุนกว่า 1.2 แสนโครงการ ส่วนนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า ในปีนี้จะสามารถลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ครบตามแผน จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1.5 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ 1.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูง เส้นกรุงเทพ-โคราช มีวงเงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท จากเดิมมีแผนลงทุนยาวถึงหนองคาย วงเงินลงทุนรวมกว่า 3 แสนล้านบาท พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินลงทุนในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาทด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความพยายามที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เนื่องจากเอกชนของไทยมีความพร้อม และมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเน้นไปที่โครงการที่มีผลตอบแทนกลับคืนมาเป็นหลัก ส่วนโครงการที่ไม่มีผลตอบแทนกลับคืนมารัฐบาลจำเป็นจะต้องเดินหน้าลงทุนตามแผนเอง

"ปีนี้เราเดินหน้าได้ 20 โครงการแน่นอน โดยตอนนี้มี 8 โครงการที่เดินหน้าได้ตามแผน ส่วนอีก 12 โครงการยังช้ากว่าแผนประมาณ 2 เดือน แต่ก็ไม่น่าจะช้ากว่านี้แล้ว โดยโครงการลงทุนหลักๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับถนน รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเขตเมือง ลงทุนด้านน้ำ สนามบิน ทั้งหมดนี้วงเงินลงทุนคือ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในส่วนนี้จะเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนตามได้แน่" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่การส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการรายงานว่ายอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. เพิ่มสูงขึ้นกว่า 90% ใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. ส่วนการลงทุนโดยตรง (FDI) ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเทศจีนมียอดขอสูงสุด คิดเป็น 30% จากทั้งหมด และรองมาเป็นประเทศญี่ปุ่น

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หากรัฐบาลมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย งบประมาณที่รัฐบาลเคยใช้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ก็จะไม่กลายเป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนที่ผ่านมา แต่การให้ความช่วยเหลือจะตรงกลุ่ม ถูกจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โครงการบรรเทาภาระค่าครองชีพ (รถเมล์-รถไฟฟรี) ที่ขณะนี้ยังไม่ตรงกลุ่มผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ รวมทั้งในอนาคตรัฐบาลอาจจะมีการเพิ่มสวัสดิการตรงเข้าสู่ระบบสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยด้วย จากเดิมมีเพียงกลุ่มผู้สูงอายุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ