นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังหารือกับนาย David Martin สมาชิกรัฐสภายุโรปว่า ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะที่ผ่านมารัฐสภายุโรปมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป โดยเน้นเรื่องการเชื่อมโยงประเด็นทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย กับประเด็นด้าน เศรษฐกิจการค้ามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า ไทยยึดมั่นและมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตาม Roadmap เพื่อวางรากฐานที่สำคัญให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยภายหลังจากที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการลงประชามติ และเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560
ที่ผ่านมา การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากการเจรจาดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่การลดภาษีสินค้า และลดอุปสรรคทางการประกอบธุรกิจ เท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงประเด็นใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงการค้า และประเด็นด้านสังคมไว้ด้วยกัน เช่น การ ค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม ซึ่งหากการเจรจาสรุปผลลงจะช่วยดึงดูดการลงทุนและ ช่วยให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น
ปัจจุบันการเจรจาได้ชะลอไปเนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่กำหนดวันเจรจาครั้งต่อไป ซึ่งไทยพร้อมที่จะเจรจากับสหภาพยุโรปเมื่อสหภาพยุโรปพร้อม และขอให้นาย David Martin ช่วยสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา ด้านสังคมที่มีความเชื่อมโยงกับการค้า อาทิ การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ และได้มีความก้าวหน้าการดำเนินการในเรื่องต่างๆ อย่างมาก
"การหารือครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ไทยได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย โดยที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้รับข่าวสาร ส่วนใหญ่เป็นไปในลบเชิงเกี่ยวกับ ไทยจากสื่อยุโรป หลังจากที่นาย David Martin ได้รับทราบและเข้าใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างถูกต้องมากขึ้น ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับไทยในรัฐสภายุโรปได้และจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าของทั้งสองฝ่ายต่อไปในอนาคต" นางอภิรดี กล่าว