สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.พ.หดตัว -1.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2016 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีอัตราการหดตัว 1.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิตที่ยกระดับเพิ่มขึ้นที่ 65.7 ในรอบ 11 เดือน ดัชนีการส่งสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.34% แสดงถึงมีการจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.62%

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.11% อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถกระบะประเภท PPV เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 136.82% ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นในตลาดประเทศแถบตะวันออกกลาง โอเชียเนีย และแอฟริกา

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีการผลิตลดลง 12.76% และการบริโภคเหล็กของไทยลดลง 5.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นการไหลเข้าของเหล็กสำเร็จรูปจากจีน

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้น 3.2% ในส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ โดยในส่วนของเส้นด้านผลิตลดลงตามการผลิตผ้าผืนที่ลดลง 0.52% ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 12.7% เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าของประเทศคู่แข่ง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวมของการผลิตปรับตัวลดลง 0.87% โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง 2.43%

ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0% โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 อันดับแรก ได้แก่ พัดลม หม้อหุงข้าว เตาอบไมโครเวฟ เพิ่มขึ้น 28.53%, 23.49% และ 13.36% ตามลำดับ โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าพัดลม เนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการส่งออกในตลาดอาเซียนเป็นหลัก ส่วนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าหม้อหุงข้าว สินค้าเตาอบไมโครเวฟ เนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อการจำหน่ายในช่วงเทศกาล

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและส่งออกในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.1% และ 4.4% ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตผักผลไม้ ปศุสัตว์และน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกลดลง แต่ส่งผลแนวโน้มราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทำให้การผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ความต้องการผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่แข็งในประเทศเพิ่มขึ้น

เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น 33.07% ซึ่งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกรายการสินค้า ดังนี้ สร้อย , ต่างหู , แหวน , และจี้ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่มีความสวยงาม รวมถึงสามารถเก็บเป็นของสะสมได้ ทำให้สินค้าได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลิตภัณฑ์พลาสติก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น 11.33% จากถุงพลาสติก และกระสอบพลาสติก เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น 9.17% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งและผลิตภัณฑ์ยางแผ่น เนื่องจากมีพื้นที่เปิดการกรีดหน้ายางเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น 3.36% ในสินค้าเครื่องยนต์ดีเซล จากความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ช่วงเดียวกันของปีนี้ยอดการจำหน่ายในประเทศโตขึ้นอย่างมาก สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมพบว่าการผลิตยังอยู่ในระดับปกติใกล้เคียงกับปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ