ปลัดเกษตรฯ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่-เกษตรกรร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2016 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จะมีการนำหลักการและแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิต การทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ การทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเกษตรอินทรีย์ มาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างแนวทางฯ รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินงานกับศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ จำนวน 882 ศูนย์ นอกจากนี้ จะปรับปรุงการกำหนดเป้าหมายโครงการให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดและเครือข่ายทุกภาคส่วน และคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของชุมชน มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ เพิ่มมูลค่าการตลาด และความสามารถในการแข่งขัน โดยมีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา สามารถสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ คือ มีพื้นที่โครงการทั้งหมด 310,313 ไร่ เป็นพื้นที่รับประโยชน์ 91,073 ไร่ และมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 43,150 ราย โดยเป็นเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 6,322 ราย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 399,974,365 บาท โดยมีกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดที่สำคัญ คือ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพพืช ประมง และปศุสัตว์ การปรับปรุงบำรุงดิน การปรับปรุงระบบชลประทาน การรวมกลุ่มอาชีพและแปรรูปเพื่อเพิ่มรายได้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดำเนินการประเมินผลโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ปีงบประมาณ 2558 โดยสัมภาษณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดที่เป็นตัวแทนแต่ละภาค ซึ่งมีสาระสำคัญของผลการประเมินโครงการฯ ในภาพรวม คือ การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ที่ดินในการเกษตรก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการไม่แตกต่างกัน คือ เฉลี่ย 19.38 ไร่ต่อครัวเรือน และมีกิจกรรมทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นการปลูกข้าว คือเกษตรกรจะปลูกข้าวนาปีเป็นหลักและปลูกข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้ง การถ่ายทอดความรู้และการนำไปปฏิบัติ โดยได้รับความรู้จากการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ ร้อยละ 90.86 และส่วนใหญ่มีการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านพืช ถึงร้อยละ 97.47 การได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการนำไปใช้ โดยได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต คิดเป็นร้อยละ 85.71 ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตด้านพืช คิดเป็นร้อยละ 90.67 เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชผัก พันธุ์ไม้ผล เป็นต้น รองลงมา คือ ปัจจัยการผลิตด้านประมง ร้อยละ 60.67 ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่นำปัจจัยการผลิตไปใช้ โดยเกษตรกรที่ได้รับปัจจัยด้านประมงและการผลิตสินค้าปลอดภัย นำไปใช้ร้อยละ 100 และด้านพืช นำไปใช้ร้อยละ 99.18

นอกจากนี้ ผลผลิตทางการเกษตร พบว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตกาแฟ ทุเรียน และปาล์ม ด้านต้นทุนการผลิต พบว่า หลังมีโครงการฯ ต้นทุนการต่อหน่วยลดลงทุกรายการ เช่น กาแฟ มีต้นทุนต่อหน่วยลดลง 429.93 บาท คิดเป็นร้อยละ 38.67 ยางพารา ต้นทุนต่อหน่วยลดลง 2.99 บาท คิดเป็นร้อยละ 28.53 เป็นต้น ด้านความเข้มแข็งของเกษตรกร พบว่าหลังเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำมากขึ้น การรวมกลุ่มเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อการขายผลผลิต และด้านความพึงพอใจของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในเรื่องการให้บริการของเจ้าหน้าที่ การอบรมถ่ายทอดความรู้ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 56 และมีความพึงพอใจในการได้รับน้ำ การส่งเสริมด้านการตลาด และการพัฒนาอาชีพ ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 29.14 เนื่องจากในปี 2557 ประสบปัญหาภัยแล้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ