ที่ปรึกษาฯสศค.เชื่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวช่วง 3.2-4.2% ภาคอสังหาฯโต 4.1% จากมาตรการรัฐหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2016 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวบัณฑรโฉม แก้วสอาด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานสัมนาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยประจำปี 2559 เรื่อง "สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน ปี 2559" ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการขยายตัวมากกว่าปีก่อน โดยเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะมีการขยายตัวได้ 3.7% หรือในช่วง 3.2-4.2% จากปี 58 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.8% ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมาจากการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนหลัก อีกทั้งยังมีการออกมาตรการต่างๆของภาครัฐที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนฐานราก อย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน และการเพิ่มรายได้ต่างๆให้กับประชาชน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีความมั่นใจ รวมไปถึงมีรายได้และนำมาจับจ่ายใช่สอยเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตและมีเกิดการหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ยังชะลอตัวอยู่ หลังได้รับปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกไทยยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งการส่งออกไทยนับว่ามีสัดส่วนมากของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมายังไม่เติบโตอย่างที่คาดการณ์ไว้ โดยทางกระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับลดประมาณการของการขยายตัวเศรษฐกิจไทยลงในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

สำหรับทิศทางของภาคอสังริมทรัพย์ไทยในปี 59 คาดว่าจะมีการเติบโตสูงกว่าปีก่อนที่เติบโต 4.1% โดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่ออกมาในช่วงปลายปีก่อน โดยการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง อีกทั้งในเดือนนี้ทางรัฐบาลได้พิจารณาอนุมัติโครงการบ้านประชารัฐซึ่งเป็นอีกมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้มีผู้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดันจากความเชื่อมั่นในเรื่องเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์หรือไม่ ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อยังชะลอตัวอยู่บ้าง ประกอบกับหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การอนุมัติสินเชื่อมีการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง และส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัวอยู่บ้างในปัจจุบัน

นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ได้แก่ การประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Insurance) เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มเครดิตให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถขายที่ยู่อาศัยได้มากขึ้น

ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสังคมไทยที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต โดยปัจจุบันมีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของประชากรมทั้งหมด ซึ่งทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุเพื่มมากขึ้น โดยรูปแบบของ Reverse Mortgage นั้นจะเป็นการนำที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมาจดจำนองกับธนาคาร และทางธนาคารจะมีการจ่ายเงินรายเดือนให้ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มเข้ามา และทำให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายลง

ทั้งนี้ มาตรการทั้งการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ อยู่ระหว่างการศึกษาและคาดว่าจะสามารถดำเนินการใช้ได้ภายในปีนี้หรือปี 60 และอยู่ในช่วงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของระบบสถาบันการเงินในปี 59 จะเติบโตได้เล็กน้อยที่ 6-8% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 7% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้าง ณ สิ้นปี 59 ที่ 3.2-3.25 ล้านล้านบาท ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 58 ที่เติบโต 8-8.5% โดยเป็นการชะลอตัวลงจากการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังชะลอตัวอยู่ และหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่การแข่งขันด้านราคาของธนาคารพาณิชย์ในปี 59 จะชะลอตัวลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งเพื่อระวังการขอสินเชื่อเพื่อการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์และประคองรายได้ดอกเบี้ยรับในช่วงที่สินเชื่อยังเติบโตไม่ดีนัก ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างเลือกใช้แคมเปญสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่นานระยะเวลาหนึ่งแทน เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเลือกขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารนั้นๆอยู่ และต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆของธนาคารพาณิชย์ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในลูกค้าระดับปานกลางถึงระดับบน ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการ ส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงเน้นการให้โอกาสกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยในการเข้าถึงสินเชื่อ อย่างเช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ยังคงสอดรับกับมาตรการภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อปิดช่องว่างในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ให้บริการ ด้านนโยบายเครดิตของสถาบันการเงินนั้นยังมีความระมัดระวังเพื่อเฝ้าระวังปัญหาหนี้เสีย เนื่องจากสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่สะสมในระดับสูงยังคงมีผลกระทบต่อความสามารถในการคืนหนี้ของผู้กู้ ทำให้สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงใช้เครดิตที่ระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพของสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้อยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ที่รัดกุม อีกทั้งยังจะเห็นความเป็นไปได้ที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินจะคงทรงตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันหนี้เสีย และรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้เป็นไปตามเป้า หมายของแต่ละธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 58 ซึ่งสัดส่วนของ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินทั้งระบบก็จะใกล้เคียงกับสิ้นปี 58 ที่ 2.6-2.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ